vipassana - วิริยบารมี ,ปัญญา
  หน้าแรก
  ศูนย์พิทักษ์ศาสนา
  พุทธประวัติ
  พระอรหันต์
  พระอริยบุคคล
  พระไตรปิฎก
  ศาสนาในโลก
  ศาสนาพุทธ
  ภิกษุ-สมณะ
  การปกครองสงฆ์ไทย
  พระศรีอาริย์โพธิสัตว์
  นรก
  18 อภิญญา
  19 กฎแห่งกรรม
  19.1 กฏแห่งกรรม
  20 แก้ กรรมเก่า
  21 วิบากกรรม
  22 ผลกรรมเมื่อผิดศีล 5
  23 ลดกรรม 45
  24.1 คู่กรรม คู่บารมี
  Titel der neuen Seite
  28 กรรมฆ่าตัวตาย
  กรรมให้ผลอย่างไร ?
  เหตุให้กะเทย
  อาถรรพ์สวาท
  31 กรรมเก่ากรรมใหม่
  กรรมบท 10
  34 อกุศลกรรม 10
  กิเลส1500ตัณหา108
  35 ความตาย
  เยี่ยมเมืองนรก
  38 โอปปาติกะ
  43 ตายจะไปเกิดที่ไหน
  สวรรค์
  คนเหนือดวง
  บุญ
  บำเพ็ญ วิปัสนา
  ปฏิบัติกรรมฐาน
  ญาณ 16
  อสุภกรรมฐาน
  Home
  กรรมฐานแก้กรรม
  ธรรมที่อุปการะสมาธิ
  วิธีเจริญภาวนา
  วิริยบารมี ,ปัญญา
  63 มโนมยิทธิ
  65 วิปัสสนูปกิเลส
  ศีล สมาธิ ปัญญา
  69 ศีล 5 . 8 .10. 227
  ศีล 5 แบบละอียด
  9.3 ศีล พระธุดงค์
  มงคลสูตร ๑๐
  อานาปานสติ
  มงคล ๓๘ ประการ
  พฺรหฺมจริยญฺจ
  มรรคมีองค์ 8
  สังโยชน์ ๑๐
  สติปัฎฐาน ๔
  ปฏิจจสมุปบาท
  วิชชาจรณสัมปันโน
  จิตประภัสสร
  ฟัง หลวงปู่มั่น
  ฟัง พระโชดกญาณ
  ฟัง หลวงพ่อชา
  ฟัง หลวงพ่อพุธฐานิโย
  ฟัง หลวงพ่อจรัญ
  ฟัง หลวงปู่เณรคำ
  ฟัง พระพรหมคุณา
  ฟัง หลวงปู่พุทธะ
  ฟัง สมภพโชติปัญโญ
  ฟัง พระมหา วชิรเมธี
  ฟัง ดร.สนอง วรอุไร
  ฟัง แม่ชีทศพร
  เกิดมาทำไม
  ติดต่อโลกวิญญาณ
  หลวงปู่แหวน แผ่เมตตา
  หลวงพ่อปาน
  พุทธสุภาษิต ร้อยผกา
  เปรียบศาสนา
  เตือนสติผู้ปฏิบัติ
  พระดูหมอผจญมาร
  หนีบาป
  บริจาคเลือด
  ขยะในใจ
  วิวาห์ ทารุณ
  วิธีช่วยคนใกล้ตาย
  หลวงพ่อวิโมกข์
  การประเคน
  การจุดธูปบูชา
  การแผ่เมตตา
  วิธีใช้หนี้พ่อแม่
  คุณบิดา-มารดา
  วิธีกราบ
  อธิษฐาน
  แด่เธอผู้มาใหม่
  แขวนพระเพื่ออะไร
  เลือกเกิดได้จริง
  ทำนายฝัน
  พระเจ้าทำนายฝัน
  เสียงธรรมะ
  สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
  นิทานธรรมะ
  ฟังเสียง หนังสือ
  ฟัง นิทานอีสป
  ละครเสียงอิงธรรม
  เสียง อ่านหนังสือ
  เสียง ทางสายเอก
  หนังสือธรรมะ
  ฟังบทสวดมนต์
  เทศน์มหาชาติ
  เพลงสร้างสรรค์
  สารบัญคำสอน
  เรื่องจริงอิงนิทาน ลี้ลับ
  แนะวิธีหนีนรกแบบง่ายๆ
  แนะนำ วิธีป้องกัน โรค
  F 1 บำบัดความเครียด
  F 2 ความวิตกกังวล
  F 3 วิธีรักษา โรคต่างๆ
  F 4 ตรวจสุขภาพผู้หญิง
  F 5 มะเร็ง
  F 6 ทำแท้งเถื่อน
  F 7 เป็นภูมิแพ้
  F 8 การช่วยชีวิตฉุกเฉิน
  ข่าว บันเทิง
  M 1 ดูทีวีออนไลน์
  M 2 ฟังวิทยุ
  M 3 หนังสือพิมพ์วันนี้
  M 4 หอ มรดกไทย
  M 6 ที่สุดของโลก
  M7 เรื่องน่ารู้
  M 9 ตอบ-อ่าน
  M 10 ดูดวง..
  M 11 ฮวงจุ้ย จีน
  ค้นหา ข้อมูลช่วยเหลือ
  S 1 ท่องเที่ยวไทย
  S 2.1 สถานีขนส่ง - Bahnhof
  S 2.2 GPS
  S 4 เวลา อากาศ โลก
  S 5 กงสุลใหญ่
  S 6 เว็บไซต์สำคัญ
  วัดไทยในต่างแดน
  S 8 ราคาเงินยูโรวันนี้
  S 9 ราคาทองคำวันนี้
  S 10 แปล 35 ภาษาไทย
  S 11 บอกบุญ ทำบุญ
  D 1 Informationen Thailand
  D 2 Buddha
  D 4 Super foto
  Z 1 Clip คำขัน
  Z 2 Clip นิทานธรรมะ
  Z 4 Clip เรื่องจริง
  Clip กรรมลิขิต
  Z 6 Clip หนัง Kino
  การใช้ชีวิตคู่
  เกมส์คุณหนู
  "สุข" แม้ในยาม เศร้า
  ธรรมะเพื่อชีวิต เสียงอ่าน
  รวมบทความธรรมะ
  ค่าน้ำนม
  ฟังเสียงสวดมนต์
  ศาลาปฏิบัติกรรมฐาน
  Kontakt
วิริยบารมี
โดย สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ออกอากาศเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒

ก่อนอื่นก็ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาที่ทุกท่านได้สะสมมาแล้ว จึงได้มีโอกาสได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงตรัสรู้และได้ทรงแสดง ถึงแม้ว่ากาลเวลาจะล่วงเลยไป ๒๕๐๐ กว่าปี แต่ผู้ที่ได้สะสมกุศลศรัทธาในการฟังพระธรรมก็ยังมีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรม ประการสำคัญที่สุดก็คือว่า ชาวพุทธย่อมทราบว่าพระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดง เป็นธรรมที่คนอื่นไม่สามารถที่จะรู้ได้ถ้าพระองค์ไม่ทรงแสดง ซึ่งธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงเป็นสภาพธรรมที่มีจริง และกำลังปรากฏอยูทุกขณะ แต่ก็เป็นสิ่งที่ยากแสนยากที่จะรู้ได้ เพราะว่าการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ทรงตรัสรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปทุกขณะตามความเป็นจริง ซึ่งสามารถที่จะทำให้ผู้ฟังได้ค่อยๆ พิจารณาจนกระทั่งเข้าใจ แล้วก็สามารถจะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท ถึงแม้ว่าจะได้ฟังธรรมอื่น แต่ว่าธรรมที่ไม่ไช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้ เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้จริงๆ ว่าผู้ที่มีศรัทธาย่อมเป็นผู้ที่ละเอียด และเห็นว่ากิเลสเป็นสิ่งที่ดับได้ยาก ไม่ใช่ว่าใครก็ตามที่นึกอยากจะให้อกุศลจิต อกุศลธรรมทั้งหลายหมดไป ก็จะหมดไปได้ แต่ต้องอาศัยพระปัญญาคุณที่ทรงอบรมพระบารมีถึงสี่อสงไขยแสนกัปป์ จึงสามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม และทรงแสดงพระธรรมถึง ๔๕ พรรษา

เพราะฉะนั้นผู้ที่เริ่มสนใจ ธรรมะ และคิดว่าคงจะไม่ต้องศึกษาก็คงจะสามารถเข้าใจได้ หรือว่าเพียงเข้าใจพระธรรมเพียงนิดหน่อยก็สามารถที่จะหมดกิเลสได้ ก็ไม่ถูกต้อง เพราะว่าพระธรรมเป็นสิ่งซึ่งละเอียด เพราะฉะนั้นผู้ที่ศึกษาก็ต้องศึกษาด้วยความละเอียดจริงๆ

เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังได้ เห็นว่าพระธรรมซึ่งพระองค์ทรงแสดงเป็นสิ่งซึ่งบุคคลอื่น ไม่สามารถจะรู้ได้ด้วยตนเอง ขอกล่าวถึงอดีตชาติที่พระผู้มีพระภาคทรงได้รับคำพยากรณ์ จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่าทีปังกร ซึ่งขอย้อนถอยหลังไปถึงเมื่อสี่อสงไขยแสนกัปป์ ให้เห็นความยากลำบากกว่าที่จะได้ตรัสรู้ธรรม เป็นสิ่งซึ่งยากจริงๆ และต้องอบรมบารมีจนกว่าพร้อมที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม จึงสามารถที่จะบรรลุเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้

ในสมัยที่ทรงพระชาติเป็น สุเมธดาบส เมื่อสี่อสงไขยแสนกัปป์ และทรงได้รับคำพยากรณ์จากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่าทีปังกรว่า อีกสี่อสงไขยแสนกัปป์ ท่านจะได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่าโคตมะ ผู้ที่ได้รับคำพยากรณ์อย่างนั้นจะรู้สึกอย่างไร อีกสี่อสงไขยแสนกัปป์ แต่ทรงมีพระมหากรุณาที่จะมีความเพียรที่จะอบรมเจริญบารมีความดีทุกประการ เพื่อที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะว่าถ้าหากยังมีกิเลสมากๆ และไม่มีการขัดเกลากิเลสเลย ไม่มีทางที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ส่วนมากบางคนจะคิดว่าไม่ต้องขัดเกลากิเลส ไม่ต้องอบรมเจริญกุศล เมื่อฟังธรรมแล้วได้ปฏิบัตินิดๆ หน่อยๆ ก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่นั่นก็ไม่เป็นความจริง เพราะว่าผู้ที่จะรู้ได้ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดเช่นหนทางที่พระโพธิสัตว์ได้ ดำเนินมาแล้ว

เมื่อท่านสุเมธดาบสได้รู้ว่าจะบรรลุเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านทำอะไร ท่านใคร่ครวญด้วยปัญญาว่า ธรรมที่เป็นพุทธการกธรรม คือ ธรรมอันทำให้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเมื่อได้พิจารณาแล้วก็รู้ว่า ธรรม ๑๐ ประการเป็นพุทธการกธรรม เป็นบารมีที่จะให้ถึงฝั่งจากความเป็นปุถุชนไปสู่ฝั่งของการดับอกุศลทั้งปวง ได้

เพราะฉะนั้นการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมก็ต้องเป็นสิ่งที่สมควรแก่เหตุ หมายความว่าถ้าเหตุไม่พร้อม ก็ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

พุทธการกธรรมซึ่งเป็นบารมี ที่ ๙ คือ “ทานบารมี” ทุกท่านคงจะชินกับบารมีทั้งสิบ แต่ก็ให้ทราบว่า ทานบารมีเป็นกุศลซึ่งไม่ได้หวังสิ่งตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น เพราะว่าไม่ได้ต้องการภพชาติ ไม่ได้ต้องการลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ไม่ต้องการแม้เพียงการคุ้นเคยสนิทสนม แต่ต้องเป็นไปด้วยการละการติดข้องในวัตถุทั้งปวง เพราะฉะนั้นทานของแต่ละคนก็สามารถจะพิจารณาได้ ว่าเป็นแนวทางของการที่จะทำให้ละความติดข้อง และสามารถที่จะเจริญปัญญาที่จะเห็นโทษของการติดข้อง แล้วก็อบรมทานบารมีเท่าที่สามารถจะกระทำได้

บารมีที่ ๒ คือ “ศีลบารมี” ก็คือ การละเว้น กาย วาจาที่ทำให้คนอื่นเป็นทุกข์ เดือดร้อน ซึ่งศีลเป็นที่ตั้งของกุศลทุกอย่าง เพราะว่าขณะใดที่เป็นกุศล ขณะนั้นก็ไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้กับบุคคลใดทั้งสิ้น มีแต่จะนำประโยชน์สุขเกื้อกูลแก่บุคคลอื่น ซึ่งเป็นกุศลประการอื่นๆ ต่อไป

บารมีที่ ๓ คือ “เนกขัมมบารมี” การออกจากความติดข้องในกาม เพราะถึงแม้ว่าจะให้ทานแล้ว แต่ก็ยังมีการติดข้องในสิ่งต่างๆ แล้วถึงแม้ว่าจะมีศีล มีการละเว้นทุจริต ไม่ทำให้กาย วาจาของตนเองทำให้คนอื่นเดือดร้อน แต่ก็ยังติดข้องอยู่ในสิ่งต่างๆ เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า ถ้าไม่เห็นโทษว่ามีความติดข้องมาก โดยที่ทานและศีลก็ไม่สามารถจะทำให้ความติดข้องนั้นหมดไป ก็จะมีการเพียรพยายามที่จะค่อยๆ ละ ค่อยๆ คลาย จากการติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในธรรมอื่นๆ ทั้งหลาย เช่น ในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ตามกำลังที่จะเป็นไปได้ ก็จะเป็นไปได้ทีละเล็กทีละน้อย ไม่ใช่ว่าใครสามารถจะหมดความติดข้องในทุกสิ่งทุกอย่างได้โดยรวดเร็ว ถึงแม้ว่าจะออกจากเรือนเป็นบรรพชิต ซึ่งเป็นเนกขัมมะอย่างสูง คือ การสละอาคารบ้านเรือน แต่ถ้าปัญญาไม่ได้อบรมพอ และบารมีทั้งหลายไม่อบรมพอ ก็ไม่สามารถที่จะคลายความติดข้องได้ ซึ่งความติดข้องกันมานานแสนนาน กว่าจะละได้ก็ต้องใช้เวลาที่นานมาก ในการจะละความติดข้องได้ เพราะว่าผู้ที่จะละความติดข้องในทุกสิ่งทุกอย่าง ในภพ ในชาติ ในการเกิด ต้องเป็นผู้ที่เห็นโทษของความติดข้องในรูปที่กำลังปรากฏทางตา ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฎฐัพพะซึ่งเป็นเช่นนี้มาตลอดทุกภพทุกชาติ ติดข้องอยู่ตลอดถ้าไม่มีปัญญาหรือบารมีที่ได้อบรมมาจริงๆ ก็เป็นไปไม่ได้เลยที่จะละความติดข้องได้

ถ้าตราบใดยังไม่มีความ รู้สึกว่า ความติดข้องในภพ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในทุกสิ่งทุกอย่าง เหมือนกับคนที่อยู่ในที่คุมขัง ซึ่งไม่มีทางที่จะออกไปจากความติดข้องในสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้เลย ก็จะไม่มีการพากเพียรที่จะอบรมบารมีที่จะออกจากสังสารวัฏฏ์ได้

เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องละเอียด เป็นเรื่องใหญ่ที่พุทธศาสนิกชนต้องฟัง แล้วใคร่ครวญพิจารณาด้วยความละเอียดจริงๆ

บารมีที่ ๔ คือ “ปัญญาบารมี” ปัญญาเป็นสภาพธรรมที่เห็น เข้าใจถูก รู้ถูกตามสภาพความเป็นจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ว่าสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ปัญญาจะมีได้อย่างไร ถ้าไม่มีความเพียรที่จะพยายามฟังพระธรรมจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพียรอย่างอื่นไม่สามารถที่จะเกิดปัญญารู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้

นี่คือความเพียรของผู้ที่เป็นสาวก คือ ผู้ฟัง แต่ถ้าเป็นความเพียรของผู้ที่อบรมถึงขั้นของผู้ที่จะเป็นพระอรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้า เพียรอย่างอื่นไม่สามารถที่จะเกิดปัญญารู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ ซึ่งท่านสุเมธดาบส ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ก็ได้สอนตนเองอย่างนี้ว่า

ท่านไม่พึงเว้นชนชั้นต่ำ ชั้นกลาง ชั้นสูงไรๆ เข้าไปหาบัณฑิตทุกท่าน แล้วถามปัญหาเช่นเดียวกับอาหารบิณฑบาตไม่เว้นตระกูลทั้งหลายเลย ทั้งตระกูลชั้นต่ำ ตระกูลชั้นกลาง ตระกูลชั้นสูง

นี่แสดงให้เห็นถึงความเพียร ของบุคคลผู้ที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า แม้ปัญญาก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีโดยการฟัง ไม่ว่าจะฟังใครมาทั้งนั้น ก็จะต้องเก็บทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นความเห็นถูก เป็นความเข้าใจถูกจากการฟัง จึงจะเป็นผู้ที่เป็นพหูสูต คือผู้ที่ฟังมาก ไตร่ตรองมาก

เมื่อท่านสุเมธดาบสได้ฟังคำ พยากรณ์ว่าจะได้เป็นพระพุทธเจ้า จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่าทีปังกรแล้ว ท่านก็ได้เฝ้าและฟังพระธรรมจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอีก ๒๓ พระองค์ ซึ่งรวมทั้งพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่าทีปังกรด้วยแล้ว ก็เป็น ๒๔ พระองค์ ก็เป็นเวลาที่ยาวนานมาก เป็นจิรกาลภาวนา

บารมีที่ ๕ คือ “วิริยบารมี” ความเพียรไม่ท้อถอยในสิ่งที่แม้จะยากลำบากสักเท่าไรก็ตาม ซึ่งทุกคนที่เพียรในเรื่องอื่นมีความสามารถในเรื่องอื่นมาแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า ไม่มีอะไรที่จะยากกว่าความเพียรที่จะละความชั่ว ประพฤติดี และชำระจิตใจให้บริสุทธิ์จากอกุศล เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าความสำเร็จทุกอย่างทั้งในทางโลกและทางธรรม ถ้าไม่มีความเพียรแล้ว ไม่มีทางจะสำเร็จได้เลย แต่ความเพียรในทางโลกซึ่งเต็มไปด้วยความต้องการ กับความเพียรในกุศลซึ่งจะขัดเกลากิเลส ความเพียรในกุศลเพื่อขัดเกลากิเลสก็ย่อมจะต้องมีความเพียรมากกว่า เพราะว่าปกติแล้วก็เป็นผู้ที่เพียรในอกุศล เป็นผู้ที่เพียรในอกุศลคือ เพียรด้วยความติดข้อง ต้องการในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ซึ่งทุกคนก็พิสูจน์ได้ว่าเพียรอย่างนี้มาโดยตลอด คือเพียรที่จะได้รูปด้วยความต้องการในรูปนั้น เพียรที่จะได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญ ได้สุข เพราะว่ากว่าจะมีกำลังในความเพียรที่จะละ ไม่ใช่เพียรที่จะได้ แต่เพียรที่จะละความติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในทุกอย่าง ในลาภ ในยศ ในสรรเสริญสุข ก็จะเห็นได้ว่าต้องเป็นเวลาที่ยาวนานมาก กว่าจะเปลี่ยนความเพียรในอกุศลเป็นความเพียรที่เป็นกุศล

ขอกล่าวถึงความเพียรอย่างยิ่งยวดของพระโพธิสัตว์ในพระชาติที่เป็นพระมหาชนก

พระมหาชนกได้ทูลลาพระมารดา แล้วลงเรือเพื่อไปค้าขายสินค้าที่เมืองไกลคือ ในสุวรรณภูมิ ในระหว่างทางเกิดพายุใหญ่ คลื่นซัดจนเรือจวนจะแตก เมื่อพระมหาชนกทรงทราบว่าเรือจะจม ก็เสวยอาหารจนอิ่ม แล้วทรงนุ่งผ้าที่ทรงชุบน้ำมันจนชุ่มอย่างแน่นหนา เมื่อเรือจม ผู้ที่อยู่ในเรือก็จมน้ำ เป็นอาหารของสัตว์น้ำไป แต่พระมหาชนกทรงมีกำลังจากอาหารที่เสวย และผ้าทรงที่ชุบน้ำมันจนชุ่ม ก็ทำให้ลอยตัวอยู่ในน้ำได้ดี ป้องกันภัยจากสัตว์น้ำทั้งหลายได้ พระองค์ทรงมีความเพียร ไม่ย่อท้อ ทรงว่ายน้ำอยู่ในทะเลนานถึง ๗ วัน นางมณีเมขลาซึ่งเป็นเทพธิดา เห็นเช่นนั้นก็ลองพระทัย โดยถามว่า “ใครหนอ ว่ายน้ำอยู่ได้ถึง ๗ วันทั้งๆ ที่มองไม่เห็นฝั่ง ก็จะทนว่ายไปทำไม”

พระมหาชนกตรัสตอบว่า “ความเพียรย่อมมีประโยชน์ แม้จะมองไม่เห็นฝั่ง เราก็จะว่ายไป จนกว่าจะถึงฝั่งเข้าสักวันหนึ่ง”

นางมณีเมขลากล่าวว่า “มหาสมุทรนี้กว้างใหญ่นัก ท่านจะพยายามว่ายสักเท่าไรก็คงไม่ถึงฝั่ง ท่านคงจะตายเสียก่อนเป็นแน่”

พระมหาชนกตรัสตอบว่า “คนที่ทำความเพียรนั้น แม้จะต้องตายไปในขณะที่กำลังทำความเพียรพยายามอยู่ ก็จะไม่มีผู้ใดมาตำหนิติเตียนได้ เพราะได้ทำหน้าที่เต็มกำลังแล้ว”

นางมณีเมขลาถามต่อว่า “การทำความพยายามโดยมองไม่เห็นทางบรรลุเป้าหมายนั้นมีแต่ความยากลำบาก อาจจะถึงตายได้ จะต้องเพียรพยายามไปทำไมกัน”

พระมหาชนกตรัสว่า “แม้จะรู้ว่าสิ่งที่กำลังกระทำนั้น ไม่อาจสำเร็จก็ตาม ถ้าไม่เพียรพยายาม แต่กลับหมดความเพียรเสีย ย่อมได้รับผลร้ายของความเกียจคร้านอย่างแน่นอน ย่อมไม่มีวันบรรลุถึงจุดหมายที่ต้องการ บุคคลควรมีความเพียรพยายามแม้การนั้นอาจไม่สำเร็จก็ตาม เพราะเรามีความพยายาม ไม่ละความตั้งใจ เราจึงยังมีชีวิตอยู่ได้ในทะเลนี้เมื่อคนอื่นตายกันไปหมดแล้ว เราจะพยายามจนสุดกำลังเพื่อไปให้ถึงฝั่งให้จงได้”

นางมณีเมขลาได้ฟังดังนั้นก็สรรเสริญความเพียรพยายามของพระมหาชนก และอุ้มพระมหาชนกไปจนถึงฝั่งเมืองมิถิลา

นี่เป็นพระชาติหนึ่งซึ่งจะ ได้เห็นความเพียรพยายามอย่างไม่ย่อท้อ ซึ่งยาก เพราะว่าเพียงการเพียรข้ามมหาสมุทร ถ้ายังทำไม่ได้ การเพียรที่จะข้ามโอฆะ คือห้วงน้ำของกิเลสจะมีได้อย่างไร

เพราะฉะนั้นกว่าจะอบรม คุณธรรมทางฝ่ายที่เป็นบารมีที่จะให้ถึงฝั่ง ไม่ใช่เรื่องที่เล็กน้อยเลย เพราะว่าทุกคนก็ทราบว่าทุกคนกำลังมีกิเลส แล้วจะให้ละกิเลสที่กำลังมี กำลังเกิดขึ้น แม้เพียงในสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ก็ยากแสนยากที่จะเป็นไปได้ เช่น ขณะที่กำลังสนุกสนานรื่นเริงด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งก็ตาม บอกว่าหยุดเสียอย่าต้องการ เลิกเสีย ไม่ว่าจะเป็นหนัง ละคร โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์หรืออะไรก็ตาม ใครทำได้ในขณะนั้น ในขณะที่โลภะกำลังเกิดขึ้นเกี่ยวข้องในสิ่งนั้น

เพราะฉะนั้นชีวิตในแต่ละวัน ก็เป็นอย่างนี้ คือ มีความติดข้องในทุกสิ่งทุกอย่างทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วจะให้ละความติดข้องในสภาพที่กำลังติดข้องนั้น ถ้าไม่มีปัญญาที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมไม่สามารถที่จะละอกุศลได้ และการละอกุศลได้ก็ต้องเป็นไปตามลำดับ ไม่ใช่ตามความต้องการว่าจะละโลภะก่อน แต่จะต้องละตามลำดับขั้นของอกุศล ละความเห็นผิดที่เห็นว่าสภาพธรรมเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

บารมีที่ ๖ คือ “ขันติบารมี” ไม่พอเลยแม้ว่าจะมีบารมี ๕ ประการแล้ว ก็ยังไม่พอที่จะทำให้สามารถที่จะดับกิเลสได้ ต้องอาศัยบารมีอื่นประกอบอีก คือ บารมีที่ ๖ ขันติบารมี ความอดทนต่อความทุกข์ ความสุข ความยากลำบาก อดทนในการยกย่อง ในการดูหมิ่นของคนทั้งปวงได้เพื่อละความติดข้องในตัวตน เพราะว่าเมื่อยังมีเรา ก็ยังต้องติดข้องในคำสรรเสริญ ในการยกย่อง หรือว่ามีความขุ่นเคืองใจ เมื่อผู้อื่นดูหมิ่น เพราะฉะนั้นความอดทน ต้องอดทนทุกอย่างในชีวิต ทั้งในสุข ทั้งในทุกข์ ทั้งในความยากลำบากต่างๆ

อุปมาเหมือนกับแผ่นดินซึ่ง ต้องอดทนต่อสิ่งที่เขาทิ้งลงมา ทั้งของที่สะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง เพราะฉะนั้น ชีวิตของทุกท่านในระหว่างที่กำลังฟังธรรม ก็จะต้องมีความอดทนที่จะต้องเพียรต่อไปในสังสารวัฏฏ์ ไม่ว่าจะในชาติไหน จะได้รับสุข ทุกข์อย่างไร หรือว่าจะมีความทุกข์ยากต่างๆ อย่างไร

สำหรับชีวิตในชาตินี้ ก็อาจจะเห็นได้ว่า ถ้าขณะที่กำลังเพลินไป ขณะนั้นไม่ทำกุศล เพราะฉะนั้นกำลังติดข้อง คิดว่าจะทำ แต่ถ้าอกุศลจิตเกิด ไม่ทำแล้ว ไปเที่ยว หรือว่าทำอย่างอื่นซึ่งไม่ใช่การกุศล

บารมีที่ ๗ “สัจจบารมี” เป็นผู้ที่ตรงและจริง ไม่ทำและพูดสิ่งที่ผิดจากความจริง เวลาที่ทำความดีกับใครก็ไม่หวังสิ่งใดตอบแทน เพราะว่าเป็นเรื่องความจริงของการที่ทำดีจริงๆ ไม่ใช่ทำเพื่อสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ใช่ว่าหลอกลวงหรือเสแสร้ง เพราะว่าถ้าเป็นการกระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อคนอื่น แต่ว่าทำไปด้วยความต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ใช่ด้วยความจริงใจ ในขณะนั้นก็เหมือนการเสแสร้งหรือเป็นการหลอกลวง เพราะว่าเป็นการทำเพื่อหวังประโยชน์ของตนเอง ไม่ใช่เพื่อหวังประโยชน์ของคนอื่น

ซึ่งเรื่องของ “สัจจะ” ความเป็นผู้ตรง มีข้ออุปมาว่า เสมือนยาชนิดใดก็แก้โรคชนิดนั้น ไม่ว่าจะเป็นขิง ดีปลี ก็รักษาตรงต่อโรคนั้นๆ ไม่ออกนอกทางไปทางอื่น คือแล้วแต่ว่าเป็นยาประเภทใด ก็รักษาตามลักษณะของโรคประเภทนั้นๆ

เพราะฉะนั้นถ้าผู้ใดที่หวังจะให้กุศลเป็นบารมี การทำกุศลก็ต้องเป็นการตรงเพื่อกุศลจริงๆ ไม่ใช่เพื่อเหตุอื่น

บารมีที่ ๘ คือ “อธิษฐานบารมี” เป็นผู้ที่มั่นคงในการเจริญกุศลในการขัดเกลากิเลส เพื่อรู้แจ้งอริยสัจธรรม ซึ่งบางคนอาจจะมีความคิดที่จะเจริญปัญญา หรือว่ามีความตั้งใจว่าชาตินี้หรือชีวิตนี้ จะบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์อย่างไร แต่ถ้ามีอกุศลเกิดขึ้นเมื่อไร ความมั่นคงของกุศลนั้นก็จะคลอนแคลนได้ แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีความมั่นคงจริงๆ ในชีวิตที่ตั้งใจไว้ว่าจะทำกุศลประเภทใด ก็เป็นผู้ที่ไม่คลอนแคลนในการที่จะให้ชีวิตดำเนินไป ตามความต้องการที่จะขัดเกลากิเลส ซึ่งในข้อนี้อุปมาว่า

แม้ลมพัดมากระทบทุกทิศก็ไม่คลอนแคลนสำหรับผู้ที่มีความตั้งใจที่มั่นคง

เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาตนเองจริงๆ ในเรื่องของการขัดเกลากิเลส ในเรื่องของการที่จะถึงฝั่ง คือ การดับกิเลสได้

บารมีที่ ๙ คือ “เมตตาบารมี” คำนี้ใช้กันบ่อยๆ แต่ว่าจิตที่เมตตานั้นเกิดบ่อยมากน้อยแค่ไหน เพราะว่าทุกคนใช้คำต่างๆ ได้ แต่ต้องพิจารณาสภาพจิตจริงๆ ว่า เมื่อเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ควรที่จะมีความเมตตา คือ มีความเป็นเพื่อน มีความหวังดีที่จะเกื้อกูลบุคคลอื่น ชีวิตประจำวันเป็นอย่างนี้บ้างหรือเปล่า หรือว่าเป็นเพียงสิ่งซึ่งใช้คำนี้ให้ทุกคนมีเมตตาต่อกัน ให้ทุกคนมีแต่ว่า ในขณะที่ตนเองกำลังประสบกับบุคคลหนึ่งบุคคลใด ก็อาจจะลืมพิจารณาว่า ขณะนั้นมีเมตตาหรือเปล่า

สิ่งหนึ่งที่ทุกคนจะพิจารณา ก็คือว่า ถ้ามีการเมตตากับคนที่เป็นคนดี มีประโยชน์เกื้อกูลก็ไม่ยาก แต่ว่าการที่จะมีเมตตาต่อคนที่ไม่มีประโยชน์เกื้อกูล คนที่ไม่ดีนั้น รู้สึกว่าจะทำได้ยาก แต่เมตตาไม่ควรจะจำกัด เพราะว่าผู้ที่อบรมเจริญเมตตาก็จะต้องเมตตาไปหมด ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นคนดี หรือว่าเป็นคนชั่ว ไม่ใช่ว่าเป็นคนชั่วแล้วก็ไม่เมตตา เมตตาแต่เฉพาะคนดี ถ้าอย่างนั้นก็จะไม่เป็นบารมี เพราะว่าไม่สามารถจะชำระความขุ่นเคืองใจของตนเองได้ ในขณะที่ไม่เมตตาคนอื่น ขณะนั้นก็ยังคงมีความขุ่นเคืองในบุคคลนั้น อุปมาเหมือนกับน้ำที่ย่อมเอิบอาบ ทำความเย็นแก่ที่ๆ น้ำผ่านไป บุคคลใดก็ตามที่มีความเมตตาแก่คนทั้งปวง ไม่ว่าจะพบเห็นบุคคลใด ทั้งคนดีและคนชั่ว ขณะนั้นจึงจะเป็นเหมือนกับน้ำที่เอิบอาบ ทำความเย็นแก่ทุกคนที่ผ่านไปในชีวิต ซึ่งขณะนั้นก็ทำให้จิตคลายจากอกุศลคือโทสะ เพราะว่าถ้าขณะใดที่เมตตาไม่เกิด ขณะนั้นก็อาจจะขุ่นเคืองในบุคคลอื่นได้

บารมีที่ ๑๐ คือ “อุเบกขาบารมี” เป็นสิ่งที่เพิ่มความยากขึ้น อุเบกขาบารมีหมายความถึงความเป็นกลาง ทั้งในสุขและทุกข์ คือไม่หวั่นไหว เห็นว่าสุขและทุกข์ก็เหมือนกัน คือเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่มีใครเป็นเจ้าของความสุขและความทุกข์ได้เลย เพราะทุกอย่างเป็นธรรมะ สำหรับผู้ที่มีอุเบกขาก็เสมือนกับผู้ที่ถือตาช่าง ซึ่งสุขและทุกข์ และตราชั่งนัยก็ตรงกัน คือ เสมอกัน ไม่ว่าจะเป็นสุขหรือเป็นทุกข์

นี่ก็เป็นสิ่งที่จะเห็นได้ ว่า แม้ว่าทุกคนจะรู้จักบารมีทั้ง ๑๐ เป็นสิ่งที่ดี แต่ว่าชีวิตจริงๆ ไม่ใช่สามารถที่จะมีบารมีได้ทุกโอกาส เพราะยังมีอกุศลมากที่จะต้องอาศัยบารมีหนึ่งซึ่งขาดไม่ได้เลย คือ “วิริยบารมี” ถ้าใครรู้ว่าสิ่งใดดี แต่ไม่มีความพากเพียรที่จะทำ ยังไงก็สำเร็จไม่ได้ แต่ถ้ารู้ว่าเป็นสิ่งที่ดี แล้วไม่ท้อถอย ยังเพียรต่อไปอีกในสังสารวัฏฏ์ที่อีกยาวนาน กว่าทุกคนจะหมดกิเลสได้ ต้องรู้ว่า บารมีหนึ่งที่สำคัญที่เกื้อกูลบารมีทั้งหลายก็คือ วิริยบารมี ซึ่งตามความเป็นจริง เมื่อได้ศึกษาพระธรรมแล้วก็จะได้ทราบว่า “วิริยะ” ในชีวิตเกิดขึ้นเกือบทุกขณะ ความเพียรเกิดขึ้นกับจิตเกือบทุกประเภท คือ หลังจากที่เห็นมีความเพียรเกิดขึ้นแล้ว หลังจากที่ได้ยินมีความเพียรเกิดขึ้นแล้ว ในขณะที่เห็นแล้วคิด ขณะที่คิดมีความเพียรเกิดร่วมด้วย คือ คิดดีหรือคิดไม่ดี

หลังจากที่ได้ยินแล้วก็คิด ในขณะที่คิดหลังจากที่ได้ยินก็มีความเพียรเกิดร่วมด้วยในขณะที่คิดดีหรือไม่ดี

เพราะฉะนั้นในชีวิตวัน หนึ่งๆ นอกจากเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ก็มีความเพียรเกิดร่วมกับความคิดตลอดมา แต่ความเพียรในชีวิตประจำวันเป็นความเพียรที่เป็นไปกับความเป็นอยู่ ไม่ว่าจะในเรื่องของทางโลก ในการอาชีพต่างๆ แล้วก็เพียรตั้งแต่เกิดจนตาย ก็เป็นไปในเรื่องของชีวิตในความเป็นอยู่ซึ่งไม่แต่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว หลายๆ ชาติ ตลอดกี่แสนชาติ แสนโกฏิกัปป์มาแล้ว ความเพียรที่เกิดหลังจากเห็นแล้ว ได้ยินแล้ว ได้กลิ่น ลิ้มรสแล้ว รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสแล้ว ก็เพียรไปเพียงในเรื่องความเป็นอยู่ของชีวิตในวันหนึ่งๆ

ดังนั้นเมื่อได้ฟังพระธรรม แล้ว ก็จะเห็นได้แล้วว่ากว่าจะค่อยๆ เพิ่มวิริยะความเพียร จากความเพียรในอกุศล เป็นความเพียรในกุศล จากความเพียรที่เป็นมิจฉาชีพ หรือมิจฉาวาจา มิจฉากัมมันตะจากอกุศลกรรมทั้งหลาย เป็นความเพียรที่ค่อยๆ เป็นในกุศลธรรมทั้งหลาย จนกว่าจะเป็นความเพียรในโพธิปักขิยธรรม

นี่จะเห็นได้ว่า ธรรมทุกอย่างจะต้องค่อยๆ เจริญขึ้น ถ้าเป็นทางฝ่ายอกุศลที่สะสมมาแล้ว ก็เป็นไปตามกำลังของอกุศลนั้นๆ ซึ่งไม่ใช่การสะสมฝ่ายกุศล เพราะฉะนั้นธรรมฝ่ายอกุศลก็ย่อมมีกำลังมาก ซึ่งต้องอาศัยความเพียรอย่างมากในทางฝ่ายกุศลจึงจะค่อยๆ เพียรตามความเป็นจริงในชีวิตว่า หลังจากที่ได้ฟังพระธรรมแล้วไม่กล่าวถึงในชาติก่อน เฉพาะในชาตินี้มีความเพียรในทางกุศลเพิ่มขึ้นมากเท่าไร ซึ่งแต่ละคนก็จะรู้จักตนเองตามความเป็นจริงว่า ถ้าขาดความเพียรเสียอย่างเดียว ไม่มีทางที่จะละอกุศลได้เลย แล้วจะได้เห็นกำลังของความเพียรค่อยๆ เพิ่มขึ้น จากกุศลที่เป็นไปในชีวิตประจำวัน จนกระทั่งถึงการอบรมเจริญปัญญาที่เป็นธรรม ที่เป็นฝักฝ่ายในการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ต้องใช้กาลเวลานานมาก คือ ต้องเริ่มจากการฟังพระธรรม เพียรฟัง เพียรพิจารณาให้ถูก เพียรอบรมเจริญปัญญา เพราะว่าในขณะที่ปัญญาเกิด ขณะนั้นละอกุศลทีละเล็กทีละน้อย แต่ยังไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้ ถ้าความเพียรนั้นยังไม่เป็นไปในธรรมที่เป็นไปในโพธิปักขิยธรรม คือ เป็นธรรมที่เป็นส่วน หรือเป็นฝักฝ่ายในการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม

สำหรับโพธิปักขิยธรรม ๓๗ เป็นสิ่งที่จะว่าไกลก็ไกล จะว่าใกล้ก็ใกล้ ใกล้คือสามารถจะอบรมเจริญได้เมื่อมีความรู้ความเข้าใจสภาพธรรม ที่ไกลก็คือกว่าจะถึงความสมบูรณ์พร้อมครบทั้ง ๓๗ ประการ ที่เป็นองค์ของการตรัสรู้ ก็ต้องเป็นเวลาที่นานมาก จะขาดโพธิปักขิยธรรมประการหนึ่งประการใดใน ๓๗ ประการไม่ได้

เพราะฉะนั้นขอกล่าวถึงโพธิปักขิยธรรม ซึ่งเป็นธรรมที่เป็นองค์ประกอบ เป็นส่วนของการตรัสรู้ ซึ่งมี ๗ ประเภท คือ
สติปัฏฐาน ๔
สัมมัปปธาน ๔
อิทธิบาท ๔
อินทรีย์ ๕
พละ ๕
โพชฌงค์ ๗
มัคค์มีองค์ ๘

ไม่น้อยเลย เพราะฉะนั้นจะต้องค่อยๆ อบรมไปจริงๆ สำหรับโพธิปักขิยธรรมประเภทที่ ๑ คือ “สติปัฏฐาน ๔“

สติเป็นธรรมฝ่ายดี ซึ่งขณะที่เป็นสติปัฏฐาน เป็นสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏพร้อมด้วยอาตาปี สัมปชาโน เพราะว่าสติปัฏฐานเป็นการระลึกลักษณะของกาย เวทนา จิต ธรรม ตามข้อความในพระไตรปิฎก แต่ถ้าจะกล่าวถึงทั่วๆ ไป ก็คือว่าระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมใดๆ ที่กำลังปรากฏ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจะไม่พ้นจากกาย หรือเวทนา หรือจิต หรือธรรม

แต่ที่ทรงจำแนกเป็นกาย เวทนา จิต ธรรมก็เพราะว่าเป็นสิ่งที่เคยยึดถือกายว่าเป็นเรา เวทนาว่าเป็นเรา จิตว่าเป็นเรา ธรรมว่าเป็นเรา หรือของเรา

เพราะฉะนั้นจะต้องมีการ ระลึกรู้ จนกว่าปัญญาสามารถจะรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังระลึกนั้นว่า เมื่อไม่ใช่เรา สภาพธรรมนั้นเป็นอะไร ซึ่งการที่จะมีความรู้สมบูรณ์ขึ้นได้ ก็จะต้องมีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า อาตาปี สัมปชาโน สติมา

สำหรับโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ซึ่งมี ๗ ประเภทนั้น ไม่ขาดความเพียร คือ วิริยะเลยสักประเภทเดียว นี่แสดงให้เห็นว่า เรื่องของความเพียรในชีวิตเป็นสิ่งซึ่งทุกคนควรจะได้พิจารณาจริงๆ ว่า ความเพียรที่มีในชีวิตประจำวันนั้น ส่วนใหญ่เป็นความเพียรในอกุศล หรือความเพียรในกุศล หรือเริ่มเป็นความเพียรที่เป็นฝักฝ่ายในการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ แจ้งอริยสัจธรรม

“สัมมัปปธาน ๔“ ได้แก่ ความเพียรโดยตรง ซึ่งมี ๔ อย่าง คือ
ความเพียรป้องกันบาปอกุศลที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น
ความเพียรละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว
ความเพียรให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น

ความเพียรให้กุศลธรรมที่เกิดแล้วเจริญถึงความบริบูรณ์

นี่ก็เป็นเรื่องของความ เพียร ซึ่งขณะใดที่เกิดพร้อมกับปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ความเพียรนั้นก็เป็นสัมมัปปธาน คือ เป็นความเพียรชอบ

ปธาน คือ ความเพียร

สัมมา คือ ชอบ

ดังนั้นสัมมัปปธาน ๔ คือ ความเพียรชอบ เพราะ
เพียรป้องกันบาปอกุศลที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิด
เพียรละอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
เพียรให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น
เพียรให้กุศลธรรมที่เกิดแล้วเจริญถึงความบริบูรณ์

ต้องเป็นเรื่องที่ค่อยๆ อบรมไปจนกว่าจะถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรมเมื่อใด โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ก็ครบสมบูรณ์เมื่อนั้น

ดังนั้นเวลาที่มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นก็มีสัมมัปปธาน ๔ ร่วมด้วย

“อิทธิบาท ๔“
๑) ฉันทสมาธิปธานสังขาร ๑
๒) วิริยสมาธิปธานสังขาร ๑
๓) จิตตสมาธิปธานสังขาร ๑
๔) วิมังสาสมาธิปธานสังขาร ๑

ฉันทสมาธิปธานสังขาร คือ มีฉันทะอันยิ่ง คือ เป็นอธิบดี สัมปยุตด้วยสมาธิ สังขารทั้งหลายอันเป็นปธานชื่อว่า ปธานสังขาร

คำว่า ปธานสังขาร เป็นชื่อของความเพียร ส่วนอิทธิบาท ๔ ก็ได้แก่ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ ปัญญา เพราะเป็นอิทธิบาท คือ เป็นธรรมซึ่งเป็นบาทที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม

“อินทรีย์ ๕“ คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ก็มีวิริยะรวมอยู่ด้วย

“พละ ๕“ คือ สัทธาพละ วิริยพละ สติพละ สมาธิพละ ปัญญาพละ ก็มีวิริยะรวมอยู่ด้วย

“โพชฌงค์ ๗“ ย่อมเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ คือ
๑. สติสัมโพชฌงค์
๒. ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์
๓. วิริยสัมโพชฌงค์
๔. ปีติสัมโพชฌงค์
๕. ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์
๖. สมาธิสัมโพชฌงค์
๗. อุเบกขาสัมโพชฌงค์

“มัคค์มีองค์ ๘“ คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ
๒. สัมมาสังกัปปะ
๓. สัมมาวาจา
๔. สัมมากัมมันตะ
๕. สัมมาอาชีวะ
๖. สัมมาวายามะ
๗. สัมมาสติ
๘. สัมมาสมาธิ

สัมมาวายามะ ก็ได้แก่ความเพียร จะเห็นได้ว่าไม่ขาดความเพียรในโพธิปักขิยธรรมทั้ง ๗ ประเภท

เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่ แต่ละท่าน แม้ว่าจะได้ยินเพียงชื่อของโพธิปักขิยธรรม ก็จะต้องทราบว่า เป็นการอบรมปัญญาพร้อมด้วยธรรมอื่นๆ ที่เป็นฝ่ายกุศลที่จะทำให้ค่อยๆ รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม

เพราะฉะนั้นวิริยะที่กำลัง เกิดในขณะนี้ เป็นทางฝ่ายกุศล หรือเป็นทางฝ่ายอกุศล ถ้าเป็นทางฝ่ายอกุศลไม่เป็นบารมีเลย และทุกท่านก็พอจะสังเกตเห็นวิริยะ ซึ่งเป็นไปในโลภะเป็นส่วนใหญ่ เวลาที่มีความต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด ทางตาปรารถนาที่จะเห็น ขณะมีวิริยะที่จะสร้างสิ่งที่สวยงาม ที่ปรารถนา ที่จะดูให้เกิดขึ้น

นี่ก็เป็นชีวิตประจำวัน จริงๆ ซึ่งเกิดกับกุศลจิตก็ได้ อกุศลจิตก็ได้ แต่ว่าเมื่อเกิดกับอกุศลจิต เป็นประจำมานานแสนนานแล้ว ก็ควรจะเห็นประโยชน์ของวิริยบารมีว่า แทนที่จะเพียรในทางอกุศล ก็ควรที่จะเพียรเพื่อที่จะให้วิริยะนั้นเป็นวิริยบารมี

ดังนั้นก็ควรที่จะได้พิจารณะลักษณะของวิริยะซึ่งกำลังเกิดอยู่ในขณะนี้ด้วย

ข้อความในอัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ มีข้อความว่า
วิริยะ มีอุตสาหะ เป็นลักษณะ
มีการอุปถัมภ์สหชาตธรรมทั้งหลาย เป็นรสะ คือเป็นกิจ
มีความไม่ท้อแท้ใจ เป็นปัจจุปัฏฐาน
มีความสลดใจ เป็นปทัฏฐาน

ถ้าจะดูวิริยะที่พอจะเห็น ได้ คือ ในขณะที่ขยันหมั่นเพียร ซึ่งตรงกันข้ามกับขณะที่เกียจคร้าน แต่ว่าโดยอภิธรรม คือ ธรรมที่ละเอียดที่ทรงแสดงไว้ ถึงเจตสิกที่เกิดกับจิต จะเห็นได้ว่า แม้ในขณะที่กำลังเกียจคร้านก็ต้องมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่เป็นวิริยะในทางเกียจคร้าน ไม่มีใครอยากจะขยันเท่าไร ขี้เกียจสบายกว่า ดังนั้นแม้ในขณะที่กำลังเกียจคร้าน ก็มีวิริยะที่จะเกียจคร้านต่อไปอีกนี่ก็เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นว่า ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ที่ควรจะต้องพิจารณา แม้แต่ลักษณะ รสะ คือ กิจ ปัจจุปัฏฐาน คือ อาการที่ปรากฏ และปทัฏฐาน คือ เหตุใกล้ให้เกิด

สำหรับลักษณะของวิริยเจตสิกอีกประการหนึ่ง ซึ่งหลายท่านอาจจะไม่ได้พิจารณา แต่ข้อความในอัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ มีว่า

ความเป็นผู้กล้าหาญ การกระทำของคนกล้าหาญ และความไม่ย่อหย่อนนั้น เป็นลักษณะของวิริยเจตสิก

มี ๒ คน คนหนึ่งกล้า อีกคนหนึ่งขลาด

แม้ว่าโดยอภิธรรม คนขลาดก็จะต้องมีวิริยะที่จะขลาด แต่คนกล้าจะแสดงลักษณะของวิริยะชัดเจน เพราะต้องเป็นผู้ที่มีความเพียรที่จะทำสิ่งนั้นๆ ให้สำเร็จ ไม่ว่าจะมีอุปสรรค หรือว่าจะมีอันตราย อย่างไรก็ตาม ความกล้าหาญนั้นเป็นลักษณะของวิริยเจตสิก ซึ่งถ้าเป็นไปทางฝ่ายกุศล วิริยะนั้นก็ถึงฐานะของความเป็นอินทรียะ คือ เป็นวิริยินทรีย์เมื่อเกิดร่วมกับสัทธา สติ สมาธิ ปัญญา และเมื่อเป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐานก็เป็นสัมมาวายมะ เป็นความเพียรชอบที่จะระลึกศึกษา รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติในขณะนี้ตามความเป็นจริง และเมื่อมีปัญญาเพิ่มขึ้น วิริยะนั้นก็เป็นวิริยพละ มีกำลังไม่หวั่นไหวที่จะพิจารณารู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทุกเหตุการณ์ ไม่มีการที่คิดว่า ขณะนี้จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมไม่ได้

ข้อความในอัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ อธิบายวิริยินทรีย์ เพื่อที่จะให้ทุกท่านได้ตรวจสอบลักษณะของวิริยเจตสิก จากข้อความในอัฏฐสาลินี ซึ่งมีว่า

ความเป็นไปแห่งความกล้า ชื่อ วิริยะ
หรือ การกระทำของคนกล้า เป็น วิริยะ

วันหนึ่งๆ มีความกล้าอะไรบ้างหรือเปล่า

กล้าที่จะพูดในสิ่งที่ถูก หรือเปล่า หรือว่ากล้าที่จะเป็นผู้ที่สุจริต โดยที่ว่าไม่กลัวต่อความเดือดร้อน ความลำบาก ความขัดสน ความยากจน

หรือว่าบางท่าน กล้าที่จะแสดงเหตุและผลของธรรมโดยที่ไม่เกรงว่าจะไม่เป็นที่รักของคนพาล

หรือว่า อาจจะมีคนที่เข้าใจเจตนานั้นผิดก็ได้ แต่ธรรมก็คือธรรมตามความเป็นจริง

ดังนั้นผู้ที่กล้าที่จะเห็นการกระทำ ที่กล้าได้ทุกอย่าง ทั้งในทางโลกและในทางธรรม

อีกอย่างหนึ่งชื่อว่าวิริยะ เพราะให้ดำเนินไป คือให้เป็นไปด้วยวิธี คือ นัย ได้แก่ อุบาย ซึ่งหมายความถึง ความฉลาด

วิริยะนั้นแลชื่อว่าเป็นอินทรีย์ เพราะอรรถว่าเป็นอธิบดี โดยครอบงำความเกียจคร้านได้

อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าเป็นอินทรีย์ เพราะครอบครองความเป็นใหญ่ในลักษณะของการประคอง

วิริยะกำลังเกิดกับทุกท่าน แต่ว่าถ้าพระธรรมไม่แสดงไว้ ไม่มีทางที่จะรู้จักลักษณะของวิริยะโดยนัยประการต่างๆ ได้ แม้แต่ว่าที่ชื่อว่าเป็นอินทรีย์ เพราะครอบครองความเป็นใหญ่ในลักษณะการประคอง

ขณะใดที่กุศลจิตเกิด หรือท่านกำลังทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยความอดทน ด้วยความขยัน ให้ทราบว่ามีวิริยเจตสิกซึ่งกำลังประคองอยู่ในขณะนั้น กิจการงานนั้นจึงกระทำไปโดยที่ไม่ท้อถอยได้

วิริยะนั้นและเป็นอินทรีย์ จึงชื่อว่า วิริยินทรีย์

ก็วิริยะนั้นมีการอุปถัมภ์ค้ำจุนเป็นลักษณะ และมีการประคองเป็นลักษณะ

ผู้อบรมเจริญปัญญา ผู้ได้รับการอุปถัมภ์ด้วยการอุปถัมภ์ คือ วิริยะ ย่อมไม่เสื่อม คือไม่เสื่อมรอบจากกุศลธรรมทั้งหลาย เช่นเดียวกับเรือนเก่าย่อมทรงอยู่ได้เพราะมีเครื่องค้ำจุน คือ เสาที่เอาเข้ามาใส่ ฉะนั้น

ขณะนี้ถ้าใครเบื่อ ใครขี้เกียจ ใครง่วง ใครท้อถอย ให้ทราบได้ว่า เหมือนเรือนเก่าซึ่งกำลังผุพัง เพราะว่าไม่สามารถจะตั้งอยู่ หรือดำรงอยู่ หรือดำเนินไปในกุศลทั้งหลายได้

ดังนั้น วิริยเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะอุปถัมภ์ค้ำจุนและมีการประคอง เช่นเดียวกับเรือนเก่าซึ่งต้องเอาเสาเข้ามาใส่จึงจะประคองให้เรือนนั้นตั้ง อยู่ได้

ในเบื้องแรก พึงทราบว่าความที่วิริยะนั้นมีการค้ำจุนเป็นลักษณะ ท่านทรงแสดงอุปมาหลายอย่าง เพื่อที่จะให้เข้าใจถึงลักษณะสภาพของวิริยเจตสิก ซึ่งกำลังเกิดขึ้นเป็นไปในขณะนี้

เหมือนอย่างว่า เมื่อกองทัพน้อยกับกองทัพใหญ่ทำสงครามกัน กองทัพน้อยถอยร่น ลำดับนั้นเขาก็จะกราบทูลให้พระราชาทรงทราบ พระองค์ก็จะพึงส่งพลและพาหนะไปให้กองทัพของพระองค์ที่มีพลพาหนะนั้นสนับสนุน จึงยังกองทัพของข้าศึกให้กลับพ่ายแพ้ได้ฉันใด วิริยะก็ฉันนั้น ย่อมไม่ทำให้สัมปยุตตธรรมทั้งหลายท้อถอย ท้อแท้ ย่อมยกคือประคองสัมปยุตตธรรมเหล่านั้นไว้ ดังนั้นท่านกล่าวว่า วิริยะมีการประคองไว้เป็นลักษณะ วิริยะประคองให้สนใจในสิ่งซึ่งกำลังฟังให้พิจารณาให้เกิดความเข้าใจขึ้น

ตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่งในเรื่องของวิริยะ ซึ่งเป็นบริวารของปัญญา

ข้อความในขุททกนิกาย มหานิทเทส อรรถกถา อัฏฐกวรรค กามสุตตนิทเทสที่ ๑ มีข้อความว่า

ท่านพระสารีบุตรแสดงการอบรม เจริญบารมีเพื่อดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ถึงความเป็นพระอรหันต์ว่า เหมือนอย่างว่ามีนคร ๒ นคร คือ โจรนคร ๑ เขมนคร ๑

ครั้งนั้นนายทหารใหญ่คน หนึ่งเกิดความคิดว่า โจรนครนี้ยังตั้งอยู่ตราบใด เขมนครย่อมไม่พ้นอันตรายนั้น เราจักทำโจรนครให้ไม่เป็นนคร เขาสวมเกราะถือดาบเข้าไปยังโจรนคร เอาดาบฟันเสาระเนียดซึ่งเขายกขึ้นไว้ที่ประตูนคร ทำลายที่ต่อบานประตูและหน้าต่าง ถอนลิ่มสลัก ทำลายกำแพง ถมคู เอาธงที่ยกขึ้นเพื่อความสง่างามของนครลง เอาไฟเผานคร แล้วเข้าเขมนคร ขึ้นบนปราสาท แวดล้อมไปด้วยหมู่ญาติ บริโภคโภชนาหารที่มีรสอร่อย ฉันใด ข้ออุปมัยก็ฉันนั้น

สักกายทิฏฐิดุจโจรนคร นิพพานดุจเขมนคร ผู้อบรมเจริญภาวนาดุจนายทหารใหญ่ที่คิดว่า เครื่องผูกคือสักกายทิฏฐิยังผูกพันอยู่ตราบใด ก็ยังไม่พ้นภัยตราบนั้น

ข้อความตอนท้ายที่ว่า สักกายทิฏฐิดุจโจรนคร นิพพานดุจเขมนคร ผู้อบรมเจริญภาวนาดุจนายทหารใหญ่ที่คิดว่า เครื่องผูกคือสักกายทิฏฐิยังผูกพันอยู่ตราบใด ก็ยังไม่พ้นภัยตราบนั้น

อกุศลธรรมที่จะต้องดับก่อน คือ สักกายทิฏฐิที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เพราะต้องเป็นปัญญาที่เห็นจริงๆ ว่า โจรนครกับเขมนครต่างกัน เขมนครนั้นก็สงบ แต่โจรนครนั้นก็เดือดร้อนวุ่นวาย กระสับกระส่าย เพราะถ้ายังมีความเห็นผิด ยึดถือสภาพธรรมเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล จะพ้นจากความกระสับกระส่าย ความเดือดร้อน ความกังวลก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

นอกจากนั้น ผู้ที่จะอบรมเจริญปัญญาที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบันรู้แจ้งอริยสัจธรรม นั้นอีก ๗ ชาติอย่างมาก ก็จะบรรลุถึงคุณธรรม บรรลุเป็นพระอรหันต์ซึ่งไม่มีการเกิดอีกเลย

เพราะฉะนั้นก็จะต้องเป็นผู้ ที่เห็นว่า กิเลสและความทุกข์ทั้งหลายอยู่ที่อัตภาพ คือที่นามธรรมและรูปธรรมนี่เอง ดังนั้นการที่จะหมดกิเลส หมดทุกข์โดยสิ้นเชิงโดยเด็ดขาดเป็นสมุจเฉท ก็คือไม่มีนามธรรมและรูปธรรมอีกต่อไป ซึ่งจะเป็นไปได้ด้วยบารมีหนึ่งซึ่งขาดไม่ได้ คือ วิริยบารมี ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากที่จะได้รู้ความจริงว่า วิริยะในวันหนึ่งๆ เป็นกุศลในขณะใด เป็นอกุศลในขณะใด ผู้ที่จะอบรมเจริญปัญญามาที่จะมีวิริยะเป็นบารมี มีความเพียรที่จะขัดเกลาละคลายอกุศลและเจริญกุศลขึ้น ถ้าไม่พิจารณาธรรมที่เกิดกับตน ย่อมไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของวิริยะที่เป็นกุศลและอกุศลได้

ตอนท้ายของอรรถกถา อนุมานสูตร มีข้อความว่า โบราณาจารย์ คือ อาจารย์ทั้งหลายในอดีต กล่าวว่า ภิกษุพึงพิจารณาตนเองวันละ ๓ ครั้ง คือ ตอนเช้า ควรพิจารณาว่ากิเลสมีประมาณเท่านี้ของเรามีอยู่หรือไม่ ถ้าเห็นว่ามี พึงพยายามเพื่อละกิเลสเหล่านั้น ถ้าเห็นว่าไม่มี พึงเป็นผู้มีใจเป็นของตนว่า เราบวชดีแล้ว

ตอนกลางวันก็พิจารณาอีก ตอนเย็นก็พิจารณาอีก เมื่อไม่อาจพิจารณาถึงวันละ ๓ ครั้ง ก็พึงพิจารณาเพียง ๒ ครั้ง แต่เมื่อไม่อาจถึง ๒ ครั้ง ก็พึงพิจารณาเพียง ๑ ครั้ง แต่การไม่พิจารณาเลยไม่สมควร

ท่านเหล่านั้น ในอดีตท่านเป็นบัณฑิต แล้วท่านก็มีหนทางที่จะเตือนตัวของท่านเอง เปรียบเทียบได้กับบุคคลในสมัยนี้ว่า มีความคิดที่จะพิจารณาตนเหมือนบัณฑิตทั้งหลายในครั้งอดีตหรือไม่ ซึ่งจะเห็นได้ว่า แม้แต่การที่จะพิจารณาอกุศลและกุศลของตนเองก็ต้องอาศัยวิริยะ

ตอนเช้า ๑ ครั้ง ตอนกลางวันอีก ๑ ครั้ง ตอนเย็นอีก ๑ ครั้ง ถ้า ๓ ครั้งไม่ได้ ก็ ๒ ครั้ง ถ้า ๒ ครั้งไม่ได้ เพียง ๑ ครั้งก็ยังดี มีกิเลสอะไรของท่าน ซึ่งท่านโบราณาจารย์ในครั้งนั้นได้เตือนให้พิจารณา

ข้อความในมัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ อนุมาณสูตรข้อ ๒๒๕ มีว่า

ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้แสดงธรรมที่เป็นคนว่าง่ายกับภิกษุทั้งหลาย ได้กล่าวให้ภิกษุทั้งหลายพิจารณาตน

ภิกษุพึงพิจารณาตนด้วยตนเอง

จะเห็นได้ว่า ถ้าจะให้คนอื่นมาพิจารณาให้ ถามเขาว่าเราเป็นอย่างไร คนนั้นย่อมไม่สามารถที่จะพิจารณาได้ละเอียดเท่าตัวของเราเองเป็นผู้พิจารณา อกุศลของเราเอง เพราะว่าคนอื่นไม่มีทางที่จะรู้ดีกว่า บางท่านไม่อยากจะพิจารณาอกุศลของตนเองเลย แต่ว่าถ้าจะให้เป็นประโยชน์จริงๆ ที่จะให้วิริยะเจริญขึ้นในฝ่ายกุศล ก็ต้องเห็นอกุศลของตนเองด้วย

ท่านกล่าวว่า ภิกษุพึงพิจารณาตนด้วยตนเองอย่างนี้ว่า เราเป็นคนยกตัวข่มผู้อื่นหรือไม่ หากพิจารณารู้อยู่อย่างนี้ว่า เราเป็นคนยกตัวข่มผู้อื่นจริง ก็พึงพยายามเพื่อจะละอกุศลธรรมอันชั่วช้านั้นเสีย หากพิจารณารู้อยู่อย่างนี้ว่า เราไม่เป็นคนยกตน ไม่ข่มผู้อื่น ภิกษุนั้นพึงอยู่ด้วยปีติและปราโมทย์นั้นทีเดียว หมั่นศึกษาทั้งกลางวัน กลางคืนในกุศลธรรมทั้งหลาย

ฟังดูเรื่องของการยกตนข่มคน อื่น ถ้าไม่พิจารณาโดยละเอียดจริง อาจจะคิดว่า ท่านเองเปล่า ไม่ได้ทำ ขณะใดที่คิดถึงคนอื่นในความไม่ดีของคนอื่นด้วยอกุศลจิต ขณะนั้นยกตนว่าท่านเป็นคนดีพอที่จะเห็นความไม่ดีของคนอื่น

อีกประการหนึ่ง ภิกษุพึงพิจารณาตนอย่างนี้ว่า เราเป็นคนมักโกรธ อันความโกรธครอบงำแล้วหรือไม่ หากพิจารณาอยู่อย่างนี้ว่า เราเป็นคนมักโกรธ อันความโกรธครอบงำแล้วจริง ก็ควรพยายามที่จะละอกุศลธรรมอันชั่วช้านั้นเสีย หากพิจารณาอยู่อย่างนี้ว่า เราไม่เป็นคนมักโกรธ อันความโกรธไม่ครอบงำ ภิกษุนั้นพึงอยู่ด้วยปีติและปราโมทย์นั้นทีเดียว หมั่นศึกษาทั้งกลางวัน กลางคืนในกุศลธรรมทั้งหลาย

เรื่องของกาย เรื่องของวาจา เป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน คำพูดเป็นผู้ที่อันความโกรธครอบงำหรือเปล่า ถ้ากายหรือวาจาเป็นไปเพราะความโกรธครอบงำในวันนี้แล้ว ตอนเช้า ตอนกลางวัน ตอนเย็นพิจารณาตนหรือเปล่า ว่าเป็นผู้ที่มักโกรธ อันความโกรธครอบงำแล้วจริง ถ้าจริงก็พยายามเพื่อที่จะละอกุศลธรรมอันชั่วช้านั้นเสีย

ยังมีการรู้สึกตัว ยังเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่ถ้าวันนี้ไม่พิจารณาเลยในสิ่งที่ได้ทำไปแล้วว่าไม่ดี ต่อไปก็จะต้องทำอีกแน่นอน ดังนั้นก็จะไม่มีการขัดเกลาตนเองเลย แต่ผู้ที่จะละคลายกิเลสจริงๆ ต้องการที่จะดับจริงๆ ต้องการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมจริงๆ ต้องเป็นผู้ที่มีวิริยะ มีความเพียรที่จะเห็นอกุศลของตนเอง

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายกุศลที่เกิดจากการศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้เป็นประดุจพระชนกของปวงชนชาวไทย
เพื่อโดยเสด็จพระราชกุศล

ปัญญา

ถาม : อะไรคือปัญญา? อะไรเป็นลักษณะ รส ปัจจุปัฏฐาน และปทัฏฐานของปัญญา?
อะไรเป็นอานิสงส์? อะไรเป็นความหมายของปัญญา? ความดีชนิดไหนทำให้เกิดปัญญา?
ปัญญามีกี่ประเภท?
ตอบ : การที่จิตรู้อารมณ์ตามความเป็นจริง นี้เรียกว่าปัญญา(๑) อีกอย่างหนึ่ง การพิจารณาเห็นประโยชน์มิใช่ประโยชน์ นี้เรียกว่าปัญญา นี่เป็นความหมายตามนัยแห่งอภิธรรม


นิยามความหมายแห่งปัญญา

ถาม : อะไรคือปัญญา?
ตอบ : ปัญญา คือ ความรอบรู้ ญาณ การวิจัยธรรม การจำแนก การกำหนดหมายการวิจัยที่เป็นการศึกษาอันชำนาญและชาญฉลาด ในการพิจารณาก็เป็นการเห็นชัดเจนและได้ความรู้ปัญญาคือความฉลาด ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ปัญญาเหมือนศาสตรา ปัญญาเหมือนปราสาท ปัญญาคือประทีป ปัญญาคือรัตนะ ความไม่หลง ธรรมวิจัย สัมมาทิฏฐิเหล่านี้เรียกว่า “ปัญญา”(๒)
ปัญญามีการบรรลุสัจจะเป็นลักษณะมีการค้นคว้าเป็นกิจ มีความไม่หลงเป็นปัจจุปัฏฐานมีสัจจะ ๔ เป็นปทัฏฐาน และมีอริยสัจ ๔ เป็นปทัฏฐาน
อีกอย่างหนึ่ง ความเข้าใจแจ่มแจ้งเป็นลักษณะของปัญญา การรู้สภาวธรรมตามความเป็นจริงเป็นกิจ การกำจัดความมืดคืออวิชชาเป็นปัจจุปัฏฐาน ปฏิสัมภิทา ๔ ตามหลักเหตุผล เป็นทัฏฐานของปัญญา


อานิสงส์ของปัญญา
ถาม : อะไร เป็นอานิสงส์ของปัญญา?
ตอบ : อานิสงส์ของปัญญา ไม่สามารถคำนวณได้ คำพรรณนาอานิสงส์ของปัญญาโดยสรุปมีดังต่อไปนี้
ความดีทั้งปวงสุกสว่างขึ้นมาได้เพราะปัญญาปัญญา ๒ ชนิดนำไปสู่ฌานชั้นสูง บุคคลดำเนินไปสู่อริยมรรคและเห็นอริยผลคืออรหัตได้ด้วยปัญญาปัญญาเป็นธรรม อันยอดเยี่ยม เป็นดวงตาของทุกสิ่งความเสื่อมแห่งปัญญา คือความไม่บริสุทธิ์ ความเจริญปัญญาไม่มีอะไรเทียบได้บุคคลทำลายมิจฉาทิฏฐิทั้งปวงได้เพราะปัญญา คนพาลทำความชั่วเพราะตัณหา
คนมีปัญญาไม่ถูกตัณหาลากไปเช่นนั้น จึงเป็นผู้สูงสุดกว่าใคร ๆดำรงชีวิตโดยชอบและชี้ประโยชน์ทั้ง ๒ คือประโยชน์ในโลกนี้และประโยชน์ในโลกหน้าพวกเขาเป็นอยู่อย่างอิสระและเข้ม แข็งได้เห็นทั้งทุกข์และสุขหลายรูปแบบและทราบปัจจัยเหตุ จิต วัตถุ กฎเกณฑ์
ปัญญานี้เป็นสัจจธรรม เป็นแหล่งของความดีเพราะปัญญา บุคคลจึงบรรลุธรรมอันเลิศเพราะปัญญา บุคคลจึงถอนรากเหง้าของความชั่วคือโลภะ โทสะ โมหะ ความเกิด ความตาย และความชั่วอื่น ๆ ซึ่งไม่เคยมีใครถอนได้มาก่อน

ความหมายแห่งปัญญา

ถาม : อะไร เป็นความหมายแห่งปัญญา?
ตอบ : ปัญญา หมายถึง ญาณ และหมายถึงการสลัดตนออกไป (จากวัฏฏะ)
ถาม : ความดีชนิดไหนทำให้เกิดปัญญา?
ตอบ : ปัญญาเกิดขึ้นเพราะความดี ๑๑ อย่างนี้ คือ
(๑) การศึกษาความหมายของคัมภีร์ (๒) การทำความดีต่าง ๆ
(๓) การมีศีลบริสุทธิ์ (๔) สมถะและวิปัสสนา (๕) อริยสัจ ๔
(๖) ศิลปศาสตร์ (๗) การทำจิตให้สงบ (๘) การอยู่ในฌานตลอดกาลทุกเมื่อ
(๙) ทำจิตให้ปราศจากนิวรณ์ (๑๐) การไม่คบคนพาล (๑๑) การคบบัณฑิต
ปัญญา ๒ ประเภท
ถาม : ปัญญามีกี่ประเภท
ตอบ : ปัญญา ๒ ประเภทก็มี ปัญญา ๓ ประเภทก็มี ปัญญา ๔ ประเภทก็มี
ถาม : ปัญญา ๒ ประเภท คืออะไรบ้าง?
ตอบ : คือโลกิยปัญญา โลกุตรปัญญา(๓) ในที่นี้ ปัญญาที่สัมปยุตด้วยอริยมรรคอริยผลเป็นโลกุตรปัญญา ส่วนปัญญาอย่างอื่นเป็นโลกกิยปัญญา และโลกิยปัญญาประกอบด้วยอาสวะ สังโยชน์ คันถะ เป็นโอฆะ โยคะ นิวรณ์ ผัสสะ สังสารวัฏและกิเลส ส่วนโลกุตรปัญญาปราศจากอาสวะ ไม่มีสังโยชน์ ไม่มีคันถะ ไม่มีโอฆะ ไม่มีนิวรณ์ ไม่มีสังสารวัฏและไม่เป็นกิเลส


ปัญญา ๓ ประเภท นัยที่ ๑
ปัญญา ๓ ประเภท คือจินตามยปัญญา สุตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา(๔)
ในปัญญา ๓ ประเภทนั้น ปัญญาที่บุคคลได้มาโดยไม่ได้เรียนจากผู้อื่น เป็นปัญญาที่เกิดจากกรรมที่เป็นของแต่ละบุคคล หรือปัญญาที่ตรงกับความจริงเป็นความรู้ที่เกี่ยวกับหน้าที่การงาน หรือเกี่ยวกับศาสตร์ นี้เรียกว่าจินตามยปัญญา ปัญญาที่ได้มาโดยการเรียนจากผู้อื่น เรียกว่า สุตตมยปัญญา บุคคลเมื่อบำเพ็ญสมาธิ ทำปัญญาให้เกิดขึ้นนี้เรียกว่า ภาวนามยปัญญา

นัยที่ ๒
อีกอย่างหนึ่ง ปัญญามี ๓ ประเภท คืออายโกศล อปายโกศล ในปัญญา ๓ ประเภทนั้น บุคคลเมื่อบำเพ็ญธรรมเหล่านี้ อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเสื่อมไปกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเกิดขึ้น ปัญญานี้เรียกว่าอายโกศล อนึ่ง บุคคลเมื่อบำเพ็ญธรรมเหล่านี้อยู่อกุศลธรรมย่อมเกิดขึ้นและกุศลธรรมย่อม เสื่อมไป ปัญญานี้เรียกว่าอปายโกศล ความฉลาดในอุบายทั้งปวงอันจะนำไปสู่ความสำเร็จ เรียกว่า อุปายโกศล(๕)

นัยที่ ๓
อีกนัยหนึ่ง ปัญญา ๓ ประเภทนี้ คืออาจยคามินีปัญญา อปจยคามินีปัญญา และปัญญาที่ไม่เป็นทั้งอาจยคามินีและอปจยคามินี ปัญญารอบรู้มรรค ๔ เรียกว่า อาจยศามินีปัญญา ปัญญารอบรู้ผล ๔ ทั้งที่เป็นอัพยากฤตและไม่เป็นอัพยากฤตจัดเป็นปัญญาที่เป็นทั้งอาจยคามินี และอปจยคามินี(๖)


นัยที่ ๑
ปัญญามี ๔ ประเภท คือกัมมัสสกตาญาณ ๑ สัจจานุโลมิกญาณ ๑ มัคคสมังคิญาณ ๑ ผลสมังคิญาณ ๑
ในปัญญา ๔ ประเภทนั้น สัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบเกี่ยวกับกถาวัตถุ ๑๐ เรียกว่า กัมมัสกตาญาณ ความรู้คล้อยตามความจริงว่า ขันธ์ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เรียกว่า สัจจานุโลมิกญาณ ความรู้เกี่ยวกับมรรค ๔ เรียกว่า มัคคสมังคิญาณ ความรู้เกี่ยวกับผล ๔ เรียกว่า ผลสมังคิญาณ(๗)

นัยที่ ๒
อีกนัยหนึ่ง ปัญญามี ๔ ประเภทนี้ คือกามาวจรปัญญา รูปาวจรปัญญา อรูปาวจรปัญญา อปริยาปันนปัญญา
ในปัญญา ๔ ประเภทนั้น กุศลปัญญาเกี่ยวเนื่องกับกามาวจรธาติซึ่งเป็นอัพยากฤตและไม่เป็นอัพยากฤต จัดเป็นกามาวจรปัญญา กุศลปัญญาเกี่ยวเนื่องกับรูปาวจรธาตุซึ่งเป็นอัพยากฤตและไม่เป็นอัพยากฤตจัด เป็นรูปาวจรปัญญา กุศลปัญญาเกี่ยวเนื่องกับมรรค ๔ ผล ๔ เป็นอปริยาปันนปัญญา(๘)



นัยที่ ๓
อีกนัยหนึ่ง ปัญญามี ๔ ประเภทนี้ คือธรรมญาณ อันวยญาณ ปริจจญาณ สัมมุติญาณ
ในปัญญา ๔ ประเภทนั้น ความรู้เกี่ยวกับมรรค ๔ ผล ๔ เรียกว่า ธรรมญาณ โยคีนี้รู้อดีตอนาคตและปัจจุบัน โดยธรรมญาณ และโดยนัยนี้เธอรู้อดีตและอนาคตอันยาวไกล ความรู้อริยสัจ ๔ เรียกว่า อันวยญาณ ความกำหนดรู้จิตของผู้อื่นได้ เรียกว่า ปริจจญาณ ความรู้ที่นอกเหนือความรู้ทั้ง ๓ นี้ เรียกว่า สัมมุติญาณ(๙)

นัยที่ ๔
อีกนัยหนึ่ง ปัญญามี ๔ ประการนี้ คือ
๑. ปัญญาเกิดจากการรวมและไม่เกิดจากการไม่รวม
๒. ปัญญาเกิดจากการไม่รวมและไม่เกิดจากการรวม
๓. ปัญญาเกิดจากการรวมและการไม่รวม
๔. ปัญญาเกิดจากการรวมก็ไม่ใช่และไม่รวมก็ไม่ใช่
ในปัญญา ๔ ประเภทนี้ กุศลปัญญาของกามาวจรธาตุ เรียกว่า ปัญญาเกิดจากการรวมและไม่เกิดจากการไม่รวม ปัญญาเกี่ยวกับมรรค ๔ เรียกว่าปัญญาเกิดจากการไม่รวมและไม่เกิดจากการรวม รูปาวจรปัญญาและอรูปาวจรปัญญา เรียกว่า ปัญญาเกิดจากการรวมและการไม่รวม ปัญญาที่กำหนดลักษณะผลในภูมิ ๔ และอารมณ์ในภูมิ ๓ เรียกว่า ปัญญาเกิดจาก การรวมก็ไม่ใช่และไม่รวมก็ไม่ใช่(๑๐)

นัยที่ ๕
อีกนัยหนึ่ง ปัญญามี ๔ ประเภทนี้ คือ
๑.ปัญญาที่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย ไม่ใช่เพื่อความรู้แจ้ง
๒.ปัญญาที่เป็นไปเพื่อความรู้แจ้ง ไม่ใช่เพื่อความเบื่อหน่าย
๓.ปัญญาที่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายและความรู้แจ้ง
๔.ปัญญาที่ไม่เป็นไปทั้งเพื่อความเบื่อหน่ายและความรู้แจ้ง

ในปัญญา ๔ ประเภทนั้น
๑.ปัญญาที่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย ไม่ใช่เพื่อความรู้แจ้งอภิญญาและความรู้อริยสัจ
๔ เรียกว่าปัญญาเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย ไม่ใช่เพื่อความรู้แจ้ง
๒.ปัญญาที่เป็นไปเพื่ออภิญญาจัดเป็นปัญญาที่เป็นไปเพื่อความรู้แจ้ง ไม่ใช่เพื่อความ
เบื่อหน่าย
๓.ปัญญาในมรรค ๔ เป็นปัญญาที่เป็นไปทั้งเพื่อความเบื่อหน่ายและเพื่อความรู้แจ้ง
๔.ปัญญาอื่นนอกจากนี้ เป็นปัญญาที่ไม่เป็นเพื่อความเบื่อหน่ายและเพื่อความรู้แจ้ง(๑๑)



นัยที่ ๖
อีกนัยหนึ่ง ปัญญามี ๔ ประเภทนี้ คืออัตถปฏิสัมภิทา ธัมมปฏิสัมภิทา นิรุตติปฏิสัมภิทา ปฏิภาณปฏิสัมภิทา
ในปัญญา ๔ ประเภทนั้น ความรู้ความหมาย เรียกว่า อัตถปฏิสัมภิทา ความรู้ธรรม เรียกว่า ธัมมปฏิสัมภิทา ความรู้ในการแปลความหมายทางนิรุกติศาสตร์เรียกว่านิรุตติปฏิสัมภิทา ความรู้เรื่องญาณ เรียกว่า ปฏิภาณปฏิสัมภิทา(๑๒)

นัยที่ ๗
ความรู้ผลอันเนื่องมาจากเหตุ เรียกว่า อัตถปฏิสัมภิทา ความรู้เหตุ เรียกว่าธัมมปฏิสัมภิทา ความเข้าใจในการวิเคราะห์ธรรม เรียกว่านิรุตติปฏิสัมภิทา ความรู้เรื่องญาณเรียกว่าปฏิญาณปฏิสัมภิทา(๑๓)

นัยที่ ๘
ความรู้ทุกข์ และความดับทุกข์เรียกว่าอัตถปฏิสัมภิทา ความรู้เหตุแห่งทุกข์และทางให้ถึงความดับทุกข์เรียกว่าธัมมปฏิสัมภิทา ความรู้กฎเกณฑ์ในการแปลความหมายเรียกว่านิรุตติปฏิสัมภิทา ความรู้เรื่องญาณ เรียกว่าปฏิญาณปฏิสัมภิทา(๑๔)


นัยที่ ๙
อีกนัยหนึ่ง ความรู้ธรรมเหล่านี้ คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภุตธรรม เวทัลละ เรียกว่า ธัมมปฏิสัมภิทา ความรู้ความหมายของคำที่พูดออกไปว่านี้เป็นความหมายของเรื่องที่พูด นี้เรียกว่าอัตถปฏิสัมภิทา ความรู้ความหมายของสิ่งที่ประกาศออกไปแล้ว นี้เรียกว่านิรุตติปฏิสัมภิทา ความรู้เรื่องญาณ เรียกว่าปฏิภาณปฏิสัมภิทา(๑๕)

นัยที่ ๑๐
ความรู้เรื่องจักษุเรียกว่าธัมมปฏิสัมภิทา ความรู้เรื่องทิฏฐิ เรียกว่า อัตถปฏิสัมภิทา ความรู้ในการแปลความหมายของคำที่ประกาศออกไปแล้วเรียกว่านิรุตติปฏิสัมภิทา ความรู้ที่ก่อให้เกิดความฉลาด เรียกว่าปฏิภาณปฏิสัมภิทา(๑๖)

นัยที่ ๑๑
อีกนัยหนึ่ง ปัญญามี ๔ ประการนี้ คือ ทุกขญาณ สมุทยญาณ นิโรธญาณ มัคคญาณ ความรู้เกี่ยวเนื่องกับทุกข์เรียกว่าทุกขญาณ ความรู้เกี่ยวเนื่องกับเหตุแห่งทุกข์เรียกว่าสมุทยญาณ ความรู้เกี่ยวเนื่องกับความดับทุกข์เรียกว่านิโรธญาณ ความรู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์เรียกว่ามัคคญาณ(๑๗)
ปัญญาปริจเฉทจบ



ตอนที่ ๑ อุบายปริจเฉท


ถ้าโยคีใหม่ในพระศาสนานี้ปรารถนาจะหลีกพ้นจากชรามรณะและละเหตุแห่งความเกิด และความดับ ปรารถนาจะขับไล่ความมืดของอวิชชา เพื่อตัดเครื่องรัดแห่งตัณหาและเพื่อได้มาซึ่งอริยปัญญา เธอควรเจริญอุบาย คือขันธอุบาย อายตนอุบาย ธาตุอุบาย ปฏิจจสมุปบาทอุบาย และสัจจอุบาย

รูปขันธ์
ถาม : ขันธอุบายเป็นไฉน?
ตอบ : ขันธ์ ๕ คือรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์
ถาม : รูปขันธ์เป็นไฉน?
ตอบ : มหาภูตรูป ๔ และอุปาทายรูปซึ่งอาศัยมหาภูตรูป(๑)

นิยามมหาภูตรูป
ถาม : มหาภูตรูป ๔ เป็นไฉน?
ตอบ : มหาภูตรูป ๔ คือปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ
ถาม : ปฐวีธาตุเป็นไฉน?
ตอบ : คือสิ่งที่เป็นธรรมชาติแข็งและมั่นคง เรียกว่า ปฐวีธาตุ
ถาม : อาโปธาตุเป็นไฉน?
ตอบ : สิ่งที่เป็นธรรมชาติไหลและเกาะกุม เรียกว่า อาโปธาตุ
ถาม : เตโชธาตุเป็นไฉน?
ตอบ : คือสิ่งที่เป็นธรรมชาติร้อนและทำให้สุก เรียกว่า เตโชธาตุ
ถาม : วาโยธาตุเป็นไฉน?
ตอบ : สิ่งที่เป็นธรรมชาติเคลื่อนไหวและรองรับ เรียกว่าวาโยธาตุ(๒)
โยคีใหม่ เอาชนะความลำบากใน ๒ ทาง กล่าวคือ พิจารณาธาตุเหล่านี้โดยย่อ และโดยพิสดาร เรื่องมหาภูตรูปนี้ โยคีควรจะเข้าใจตามที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาแล้วอย่างสมบูรณ์ ในจตุธาตุววัฏฐาน


อุปาทายรูป
ถาม : อุปาทายรูปเป็นไฉน?
ตอบ : อุปาทายรูปคือ จักขุประสาท โสตประสาท ฆานประสาท ชิวหาประสาท กายประสาท รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ อิตถีภาวะ ปุริสภาวะ ชีวิตินทรีย์ กายวิญญัติ วจีวิญญัติ ปริจเฉทรูป รูปลหุตา รูปมุทุตา รุปกัมมัญญตา อุปจยะ รูปสันตติ รูปชาติ รูปชรตา รูปอนิจจตา อาหารรูป(๓) หทัยวัตถุ มิทธรูป(๔)

จักขุประสาท
ถาม : จักขุประสาทเป็นไฉน?
ตอบ : จักขุประสาทคืออวัยวะที่เห็นรูป เมื่อรูปกระทบกับอวัยวะนี้แล้วจะเกิดจักขุวิญญาณขึ้น(๕) นี้เรียกว่า “จักขุประสาท” อนึ่ง จักขุประสาทที่อาศัยดวงตาซึ่งมีชิ้นเนื้อเล็ก ๆ ๓ ชั้นอยู่รอบ ๆ ดวงตาดำและตาขาว และตาที่อยู่ในเนื้อเดียว ๕ ชั้นของเนื้อ เลือด ลม เสมหะ และน้ำเหลืองซึ่งมีขนาดเท่าเมล็ดฝิ่นครึ่งเมล็ด มีลักษณะคล้ายศีรษะเล็นสร้างขึ้นโดยมหาภูตรูป ๔ ตามอดีตกรรม(๖) และในที่ซึ่งมีเตโชธาตุมากกว่า เรียกว่า “จักขุประสาท” เหมือนพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระกล่าวไว้ว่า “จักขุประสาทเป็นอวัยวะที่เห็นอารมณ์ซึ่งมีขนาดเล็กละเอียดเท่าศีรษะ เล็น”(๗)


โสตประสาท
ถาม : โสตประสาทเป็นไฉน?
ตอบ : โสตประสาทคืออวัยวะที่ฟังเสียง เสียงเมื่อกระทบอวัยวะนี้จะเกิดโสตวิญญาณขึ้น นี้เรียกว่า “โสตประสาท” อนึ่ง โสตประสาทตั้งอยู่ภายในช่องหูทั้ง ๒ ที่ปกคลุมด้วยขนสีน้ำตาล อาศัยเยื่อแผ่นมีลักษณะคล้ายๆ ก้านเมล็ดถั่วเขียวซึ่งสร้างขึ้นโดยมหาภูตรูป ๔ ตามอดีตกรรม และเป็นที่ซึ่งมีอากาศธาตุมากกว่า เรียกว่า “โสตประสาท”(๘)

ฆานประสาทรูป
ถาม : ฆานประสาทรูปเป็นไฉน?
ตอบ : ฆานประสาทรูป คืออวัยวะที่สูดดมกลิ่น กลิ่นเมื่อกระทบกับอวัยวะนี้จะเกิดฆานวิญญาณขึ้น นี้เรียกว่า “ฆานประสาท” อนึ่ง ฆานประสาทตั้งอยู่ภายในจมูก ซึ่งมีอยู่ ๓ อนุรูป (๙) อาศัยช่องเล็ก ๆ อันหนึ่งซึ่งมีลักษณะคล้ายดอกทองหลาง สร้างขึ้นโดยมหาภูตรูปทั้ง ๔ ตามอดีตกรรมและตั้งอยู่ในที่มีวาโยธาตุมากกว่า เรียกว่า “ฆานประสาท”


ชิวหาประสาทรูป
ถาม : ชิวหาประสาทรูปเป็นไฉน?
ตอบ : ชิวหารูปเป็นอวัยวะรู้รส รสชาติต่าง ๆ เมื่อกระทบกับอวัยวะนี้จะเกิดชิวหาวิญญาณขึ้น นี้เรียกว่า “ชิวหาประสาท” อนึ่ง ชิวหาประสาทมีขนาดกว้าง ๒ นิ้ว มีรูปลักษณะคล้าย ๆ กับดอกอุบล(๑๐) ซึ่งตั้งอยู่ภายในชิ้นเนื้อของลิ้นที่สร้างขึ้นโดยมหาภูตรูป ๔ ซึ่งเกิดจากอดีตกรรมและอยู่ในที่ที่มีอาโปธาตุมากกว่า เรียกว่า “ชิวหาประสาท”

กายประสาท
ถาม : กายประสาทเป็นไฉน?
ตอบ :กายประสาทรูปเป็นอวัยวะที่รู้การกระทบสัมผัสอวัยวะนี้แล้วกายวิญญาณจึงเกิด ขึ้น นี้เรียกว่า “กายประสาท” อนึ่ง กายประสาทนี้ตั้งอยู่ทั่ว ๆ ไปในร่างกาย ยกเว้นที่ผม ขนเล็บ ฟัน และส่วนอื่นในร่างกาย ที่ปราศจากความรู้สึก ซึ่งสร้างขึ้นโดยมหาภูตรูป ๔ ตามกฎเกณฑ์แห่งอดีตกรรมและตั้งอยู่ในที่ที่มีปฐวีธาตุมากกว่า นี้เรียกว่า “กายประสาท”

รูปารมณ์ เป็นปฏิกิริยาของอารมณ์ที่พึงเห็น
สัททารมณ์ เป็นปฏิกิริยาของอารมณ์ที่พึงฟัง
คันธารมณ์ เป็นปฏิกิริยาของอารมณ์ที่พึงดม
รสารมณ์ เป็นปฏิกิริยาของอารมณ์ที่พึงลิ้ม

อิตถีภาวะ คือลักษณะของธรรมชาติที่เป็นหญิง
ปุริสภาวะ คือลักษณะของธรรมชาติที่เป็นชาย

ชีวิตินทรีย์ คือสภาวะที่รักษากายโดยกรรม

กายวิญญัติ เป็นกิริยาทางกาย
วจีวิญญัติ เป็นกิริยาทางวาจา

ปริจเฉทรูป คือช่องว่างระหว่างรูป

รูปลหุตา คือความเบาของรูป
รูปมุทุตา คือความอ่อนของรูป
รูปกัมมัญญตา คือความควรแก่การงานของรูป
สภาวธรรมทั้ง ๓ นี้เป็นความไม่เฉื่อยชาของรูป

อุปจยะ คือความเติบโตของรูป
สันตติ คือความสืบต่อของรูป
ชาติรูป คือการเกิดขึ้นของอารมณ์ที่เป็นรูป
ชรตา คือความแก่ของรูป
อนิจจตา คือความไม่เที่ยงของรูป

อาหารรูป คือสิ่งสำคัญของอาหารที่สัตว์ได้รับ

หทัยรูป คือสิ่งที่เกิดขึ้นโดยอาศัยมหาภูตรูปและมโนวิญญาณธาตุ

มิทธรูป หมายถึงมหาภูตรูปที่แสดงลักษณะโดยอุปาทายรูป

มหาภูตรูป ๔ และอุปาทายรูป ๒๖ จึงเป็นรูป ๓๐(๑๑)

ความแตกต่างระหว่างมหาภูตรูป ๔ และอุปาทายรูป
ถาม : อะไรคือความแตกต่างระหว่างมหาภูตรูป ๔ กับอุปาทายรูป?
ตอบ : เมื่ออาศัยซึ่งกันและกันแล้ว มหาภูตรูป ๔ จึงเกิดขึ้น ถึงแม้ว่าอุปทายรูปจะเกิดขึ้นเพราะอาศัยมหาภูตรูป ๔ แต่ว่า มหาภูตรูป ๔ ไม่ได้อาศัยอุปาทายรูปเกิดขึ้น และอุปาทายรูปถ้าปราศจากมหาภูตรูป ๔ เสียแล้วเกิดขึ้นไม่ได้

ข้ออุปมาว่าด้วยไม้ ๓ อัน
มหาภูตรูป ๔ ควรที่จะทราบเหมือนไม้ ๓ อันค้ำกันและกัน อุปาทายรูปจากมหาภูตรูป ๔ ควรจะทราบเสมือนเงาที่แผ่กระจายไปโดยไม้ ๓ อันที่ยันค้ำกันอยู่ นี้เป็นความแตกต่างกันระหว่างรูปทั้ง ๒ ในที่นี้โยคีรู้ว่ารูป ๓๐ ทั้งหมดเหล่านี้มี ๕ ชนิด คือโดยการเกิดขึ้น กลาปะ ชาติต่างกัน รวมกัน



รูปโดยการเกิดขึ้น
ถาม : โดยการเกิดขึ้นอย่างไร?
ตอบ : รูปที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยของกรรมมี ๙ คือ จักขุประสาท โสตประสาท ฆานประสาท ชิวหาประสาท กายประสาท อิตถีภาวะ ปุริสภาวะ ชีวิตินทรีย์ และหทัยรูป

รูปที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยของจิตมี ๒ คือ กายวิญญัติ และวจีวิญญัติ

รูปที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยของอุตุและจิตมี ๑ คือ สัททารมณ์

รูปที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยของอุตุ จิต และอาหารมี ๔ อย่าง คือ รูปลหุตา รูปมุทุตา รูปกัมมัญญตา และมิทธรูป

รูปที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยของกรรม จิต อุตุ อาหารมี ๑๒ คือ รูปารมณ์ คันธารมณ์ รสารณ์ ปริจเฉทรูป อุปจยรูป สันตติรูป ชาติรูป อาหารรูป และมหาภูตรูป ๔

รูป ๒ คือ ชรตาและอนิจจตาไม่มีการเกิด อนึ่ง ชรตาอาศัยชาติและเมื่ออาศัยชรตา จึงเป็นอนิจจตา เพราะฉะนั้น บุคคลควรจะทราบลักษณะของรูปเหล่านี้ โดยการเกิดขึ้นดังนี้

รูปโดยกลาปะ
ถาม : โดยกลาปะอย่างไร?
ตอบ : กลาปะ ๙ เกิดโดยกรรม กลาปะ ๙ เกิดโดยจิต กลาปะ ๖ เกิดโดยอุตุ กลาปะ ๓ เกิดโดยอาหาร

ถาม : กลาปะ ๙ เกิดโดยกรรมเป็นไฉน?
ตอบ : คือจักขุทสกกลาปะ โสตทสกกลาปะ ฆานทสกกลาปะ ชิวหาทสกกลาปะ กายทสกกลาปะ อิตถีภาวทสกกลาปะ ปุริสภาวทสกกลาปะ วัตถุทสกกลาปะ ชีวิตนวกกลาปะ(๑๒)

ถาม : จักขุทสกกลาปะ (กลุ่ม ๑๐ ของจักขุ) เป็นไฉน?
ตอบ : คือธาตุ ๔ ของจักขุประสาทเป็นสมุฏฐานของจักขุทสกกลาปะ อนึ่ง จักขุทสกะนี้ประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ สี กลิ่น รส โอชา ชีวิต และจักขุประสาททสกะนี้เกิดร่วมกันและจะไม่แยกจากกัน จึงเรียกว่ากลาปะ (กลุ่ม) และนี้เรียกว่า “จักขุทสกะ”
การเกิดขึ้นแห่งจักขุทสกะนี้เป็น “ชาติ” ความแก่ของจักขุทสกะ เรียกว่า “ชรตา” การทำลายของจักขุทสกะ เรียกว่า “อนิจจตา” สิ่งที่แบ่งเขตในระหว่างทสกะ เรียกว่า “ปริจเฉทธาตุ” สภาวธรรม ๔ อย่างเหล่านี้และกลาปะจะเกิดร่วมกัน เมื่อจักขุทสกะที่ ๑ แก่ ก็จะเกิดทสกะที่ ๒ ทสกะที่ ๑-๒ เหล่านี้ควรทราบว่าเป็น “กลาปะ” การเกิดขึ้นภายหลังเรียกว่า “สันตติ”
สภาวธรรม ๖ เหล่านี้ย่อมจะเกิดร่วมกัน เมื่อทสกะที่ ๑ จะหมดกำลัง จักขุทสกะที่ ๒ จะทำให้ทสกะที่ ๓ เกิดขึ้น ในจำนวนจักขุทสกะเหล่านี้ ทสกะที่ ๑-๒ และจักขุทสกะที่ ๓ เรียกว่า “กลาปะ” การเกิดขึ้นภายหลัง เรียกว่า “สันตติ” เมื่อทสกะที่ ๑ แตกสลายไป ทสกะที่ ๒ ก็แก่ ทสกะที่ ๓ ก็เกิดขึ้น ทสกะเหล่านี้จะปรากฏขึ้นในขณะเดียวกัน ฉะนั้น จักขุทสกะเกิดดังนี้ ไม่มีใครสามารถจะเห็นได้ในระหว่าง เพราะมันเกิดขึ้นเร็วมาก รวดเร็วจนกระทั่งโลกิยปัญญาไม่อาจจะรู้ได้ มีแต่โยคีเท่านั้นที่เห็นการสืบต่อซึ่งกันและกันของจักษุ เหมือนกระแสน้ำที่ไหล เหมือนเปลวไฟจากตะเกียง(๑๓) จักขุทสกะควรจะทราบอย่างนี้ ในทำนองเดียวกันก็ควรจะทราบโสตทสกะ ฆานทสกะ ชิวหาทสกะ กายทสกะ อิตถีภาวทสกะ ปุริสภาวทสกะ ชีวิตนวกะ



โดยพิสดาร
ถาม : กลาปะ ๙ ที่เกิดโดยจิตเป็นไฉน?
ตอบ : คือสุทธอัฏฐกะ สุทธกายวิญญัตินวกะ สุทธจีวิญญัติสัตตกะ สุทธลหุตานวกะ ลหุตากายวิญญัติทสกะ ลหุตาวจีวิญญัติอทสกะ สุทธจักขุนวกะ จักขุกายวัญญัติทสกะ จักขุวจีวิยญัติอทสกะ

ถาม : สุทธอัฏฐกะที่เกิดขึ้นโดยจิตเป็นไฉน?
ตอบ : สุทธอัฏฐกะคือ มหาภูตรูป ๔ และสี กลิ่น รส และโอชาที่อาศัยธาตุ กลาปะ ๘ นี้เรียกว่า “สุทธอัฏฐกะ”
การเกิดขึ้นแห่งรูปเหล่านี้เป็น “ชาติ” ความแก่ของรูปเหล่านี้เป็น “ชรตา” การดับของรูปเหล่านี้ เป็น “อนิจจตา”
สภาวะที่แบ่งรูปเหล่านี้เป็นอากาสธาตุหรือปริจเฉทรูป และรูป ๔ คือชาติรูป ชรตารูป อนิจจตา รูป และปริจเฉทรูปเหล่านี้เกิดขึ้นในรูปกลาปะนี้ (สุทธอัฏฐกะ) ในขณะที่รูปเหล่านี้ดับไปสุทธอัฏฐกะนี้จะทำให้สุทธอักฐกะที่ ๒ ไม่อาจจะเกิดขึ้นในจิตดวงเดียวกันได้ การอธิบายเรื่องวิญญัติที่เหลือนอกจากนี้ ควรทราบในทำนองเดียวกันกับที่ได้อธิบายมาแล้ว

ถาม : กลาปะ ๖ ที่เกิดโดยอุตุเป็นไฉน?
ตอบ : กลาปะ ๖ คือสุทธอัฏฐกะ สุทธสัททนวกะ สุทธลหุตานวกะ ลหุตาสัททสกะ สุทธาจักขุนวกะ จักขุสัททนวกะ กลาปะภายนอกมี ๒ คือ สุทธอัฏฐกะ และสัททนวกะ
กลาปะที่เกิดโดยอุตุ อาหาร สันตติ กรรม และวัตถุก็ควรจะทราบเหมือนกัน กลาปะที่เหลือนอกจากนี้ ควรทราบเช่นเดียวกันกับที่กล่าวมาแล้ว
ชีวิตนวกะอันเป็นทิพย์จะสมบูรณ์ในกามธาตุและอายตนะของการกระทำ กลาปะ ๘ จะมีต่อไป เพราะชีวิต จมูก ลิ้น กาย ปุริสภาวะ หรืออิตถีภาวะและอารัมภะทั้ง ๓ ที่เริ่มต้นด้วยลหุตาและมิทธะ สภาวะเหล่านี้ไม่มีในรูปธาตุ ชีวิตนวกะอันเป็นทิพย์เกี่ยวกับอสัญญีสัตตพรหมอายตนะสัมผัสทั้งปวงมีอยู่ ฉะนั้นบุคคลควรทราบโดยกลาปะอย่างนี
รูปโดยชาติ

ถาม : รู้รูปโดยชาติอย่างไร?
ตอบ : รูปบุคคลควรจะรู้โดยการที่ชายหรือหญิงเข้าสู่ครรภ์ ระยะแรกนั้น รูป ๓๐ ย่อมเกิดขึ้น(๑๔) รูปเหล่านี้คือวัตถุทสกะ กายทสกะ อิตถีภาวทสกะหรือปุริสภาวทสกะ
ในกรณีที่บุคคลไม่ใช่ชายหรือหญิง มีรูป ๒๐ เกิดขึ้น คือวัตถุทสกะ และกายทสกะ(๑๕)
เมื่อบุคคลเกิดในกามภูมิ ชายหรือหญิงมีอินทรีย์และอายตนะซึ่งเร้าให้เกิดรูป ๗๐ ในขณะที่เกิด รูปเหล่านั้น คือ วัตถุทสกะ กายทสกะ จักขุทสกะ โสตทสกะ ฆานทสกะ ชิวหาทสกะ อิตพีภาวทสกะ หรือปุริสภาวทสกะ
เมื่อชายหรือหญิงตาบอดถือกำเนิดในฐานะอันลำบาก บุคคลเช่นนั้นจะเร้าให้เกิดรูป ๖๐ ในขณะเกิด คือ เว้นจักขุทสกะ (ตา) ในทำนองเดียวกัน บุคคลหนวกจะเร้าให้เกิดรูป ๖๐ เว้นโสตสทกะ (หู) บุคคลทั้งหูหนวกและตาบอดจะเร้าให้เกิดรูป ๕๐ กล่าวคือ(รูปทั้งหมด) เว้นจักขุทสกะ (ตา) และโสตทสกะ (หู) เมื่อบุคคลเกิดมาแล้ว ไม่มีทั้งเพศชายหรือหญิง ในขณะเริ่มต้นแก่กัลป์ (เวลาอันยาวนาน) ในฐานะที่ลำบาก มีอินทรีย์และอายตนะ บุคคลนั้นจะเร้าให้เกิดรูป ๖๐ ในขณะเกิดกล่าวคือ (รูปทั้งหมด) เว้นปุริสภาวทสกะ (เพศชาย) หรืออิตถีภาวทสกะ(เพศหญิง) บุคคลไม่มีทั้งเพศชายหรือเพศหญิงและเป็นคนตาบอดจะเร้าให้เกิดรูป ๕๐ กล่าวคือ (รูปทั้งหมด) เว้นโสตทสกะและปุริสภาวะหรืออิตถีภาวะ บุคคลไม่มีทั้งเพศชายหรือหญิงและเป็นคนทั้งตาบอดและหูหนวกจะเร้าให้เกิดรูป ๔๐ กล่าวคือ วัตถุทสกะ กายทสกะ ฆานทสกะ และชิวหาทสกะ พรหมจะเร้าให้เกิดรูป ๔๙ ในขณะที่เกิด รูปเหล่านั้นคือ วัตถุทสกะ จักขุทสกะ โสตทสกะ กายทสกะ และชีวิตนวกะ พวกอสัญญีสัตตพรหมจะเร้าให้เกิดรูป ๙ ในขณะที่เกิด กล่าวคือ ชีวิตนวกะ ฉะนั้น บุคคลควรจะทราบโดยชาติ ดังนี้



รูปโดยต่างกัน กลาปะ ๒ ในรูป

ถาม : รูปโดยต่างกันอย่างไร?
ตอบ : รูปทั้งหมดนั้นมี ๒ ชนิดคือ รูปหยาบและรูปละเอียด ในที่นี้รูป ๑๒ เป็นรูปหยาบ เพราะว่า เป็นรูปที่เป็นอายตนะภายในและภายนอก ถูกกำหนดโดยการสัมผัส รูป ๑๘ ที่เหลืออื่น ๆ เป็นรูปละเอียด เพราะว่าเป็นรูปที่ไม่ถูกกำหนดโดยการสัมผัส
อนึ่ง มีรูป ๒ ประเภท คือ รูปภายในและรูปภายนอก ในที่นี้ รูป ๕ เป็นรูปภายใน เพราะว่าประสาทรูป ๕ คือ จักขุประสาทและประสาทอื่น ๆ ถูกจำกัด รูป ๓๕ เหล่าอื่นเป็นรูปภายนอกเพราะว่า รูปเหล่านั้นไม่ถูกจำกัด
และอีกอย่างหนึ่งรูปมี ๒ ประเภท รูปเหล่านั้นคืออินทรียรูปและอนินทรียรูป ในที่นี้ รูป ๘ เป็นอินทรียรูป รูปเหล่านี้ คือ ประสาทรูป อิตถีภาวะ ปุริสภาวะ และชีวิตินทรียรูป รูปเหล่านี้เป็นอินทรีย์รูปเช่นเดียวกัน ก็เพราะว่าเป็นเครื่องอาศัย รูปอื่นอีก ๒๒ รูปเป็นอนินทรียรูป เพราะว่า รูปเหล่านั้น ไม่เป็นที่อาศัย


กลาปะ ๓ ในรูป
รูปทั้งหมดสามารถแยกออกได้เป็น ๓ ประเภท คือ รูป ๙ เป็นเวทนา รูปเหล่านั้นคือ อินทรียรูป ๘ และหทัยรูป ๑ เพราะว่า รูปเหล่านั้น ย่อมเกิดขึ้นเพราะกรรมวิบาก รูป ๙ คือสัททารมณ์ กายวิญญัติ วจีวิญญัติ กายลหุตา กายมุทุตา กายกัมมัญญตา ชรตา อนิจจตา และมิทธรูป รูปเหล่านี้ย่อมไม่เกิดขึ้นเพราะกรรมวิบาก รูป ๑๒ เหล่าอื่นเป็นรูปแตกสลายได้ เพราะว่า รูปเหล่านั้นมีความหมายเป็น ๒
อนึ่ง รูปมี ๓ ประการคือ รูปที่เห็นได้และกระทบได้ รูปที่เห็นไม่ได้แต่กระทบได้ และรูปที่เห็นไม่ได้และกระทบไม่ได้(๑๖) ในที่นี้ รูปที่เห็นได้และกระทบได้ นั่นคือ รูปารมณ์ เพราะว่ารูปารมณ์สามารถจะเห็นได้และสัมผัสได้ รูป ๑๑ ที่เห็นไม่ได้แต่จะกระทบได้ รูปเหล่านั้น คือ รูปหยาบ เว้นรูปารมณ์ เพราะว่ารูปเหล่านั้น ไม่สามารถจะเห็นได้แต่จะกระทบได้ รูป ๑๘ ที่เห็นไม่ได้และกระทบไม่ได้ รูปเหล่านั้นทั้งหมดเป็นรูปที่ละเอียดอ่อนเห็นไม่ได้และกระทบไม่ได้
รูป ๔ ประเภท
อีกอย่างหนึ่ง รูปทั้งหมดมี ๔ ประเภท คือ สภารูป รูปรูป ลักษณรูปและปริจเฉทรูป
ในกรณีนี้ รูป ๑๙ เป็นสภาวรูป รูปเหล่านั้นเป็นรูปหยาบ รูป ๑๒ คือ อิตถีภาวะ ปุริสภาวะ ชีวิตินทรีย์ อาโปธาตุ หทัยวัตถุ และจักขุประสาท เพราะว่า รูปเหล่านี้เป็นรูปที่จำกัด
รูป ๗ เป็นรูปรูป รูปเหล่านั้นคือ กายวิญญัติ วจีวิญญัติ กายลหุตา กายมุทุตา กายกัมมัญญตา อุปัจยะ สันตติ และสภาวรูป เพราะว่า รูปเหล่านั้นเปลี่ยนแปลง
รูป ๓ เป็นลักษณรูป รูปเหล่านั้นคือ ชาติรูป ชรตารูป และอนิจจตารูป เพราะว่า รูปเหล่านั้นเป็นปัจจัย
รูปที่เป็นปริจเฉทรูป คืออากาสธาตุ เพราะว่าปริจเฉทรูปนั้นแบ่งแยกกลาปะ ในที่นี้โยคีย่อมกำหนดโดยสภาวะ ไม่ใช่โดยอย่างอื่น ฉะนั้น บุคคลควรจะทราบโดยความต่างกันดังนี้
รูปโดยรวมกัน
ถาม : รูปโดยรวมกันอย่างไร?
ตอบ : รูปทั้งปวงเป็นหนึ่ง เพราะว่า เป็นอเหตุกะ สเหตุกะ วิปปยุตจากปัจจัยเป็นไปกับด้วยปัจจัย เป็นสังขตะ เป็นโลกิยะ เป็นอารมณ์ของอาสวะ เป็นอารมณ์ของสังโยชน์ เป็นอารมณ์ของคันถะ เป็นอารมณ์ของโอฆะ เป็นอารมณ์ของโยคะ เป็นอารมณ์ของนิวรณ์ เป็นอารมณ์ของปรามาส เป็นอารมณ์ของอุปาทาน เป็นอารมณ์ของกิเลส เป็นอพยากตธรรม ไม่มีอารมณ์ ไม่ใช่เจตสิก วิปปยุตจากจิต ไม่ใช่ธรรมที่สหรคตด้วยสุข ไม่ใช่ธรรมที่สหรคตด้วยทุกข์ เป็นธรรมที่สหรคตด้วยอุเบกขา เป็นเนวเสกขานาเสกขะ เป็นกุล่มก็ไม่ใช่ไม่เป็นกลุ่มก็ไม่ใช่ ฉะนั้นโยคีควรทราบสภาวธรรมของรูปโดยรวมกันเป็นหนึ่ง ดังนี้ นี้เรียกว่า “รูปขันธ์


เวทนาขันธ์
ถาม : เวทนาขันธ์เป็นไฉน?
ตอบ : เวทนาขันธ์เมื่อว่าโดยลักษณะ เวทนามี ๑ กล่าวคือ เป็นธรรมชาติรู้สึกทางใจเท่านั้น
เมื่อว่าโดยอายตนะ เวทนามี ๒ คือ กายิกเวทนาและเจตสิกเวทนา
เมื่อว่าโดยสภาวธรรมแล้ว เวทนามี ๓ คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อุทกขมสุขเวทนา(๑๗)
เมื่อว่าโดยธรรม เวทนามี ๔ คือกุศลเวทนา อกุศลเวทนา อัพยากตเวทนาและกรรมเวทนา
เมื่อว่าโดยอินทรีย์ เวทนามี ๕ กล่าวคือ สุขินทรีย์ ทุกขินทรีย์ โสมนัสสินทรีย์ โทมนัสสินทรีย์ และอุเบกขินทรีย์(๑๘)
เมื่อว่าโดยธรรมฝ่ายดำและฝ่ายขาว เวทนามี ๖ กล่าวคือ สุขเวทนามีอาสวะ สุขเวทนาไม่มีอาสวะ ทุกขเวทนามีอาสวะ ทุกขเวทนาไม่มีอาสวะ อุเบกขาเวทนามีอาสวะ อุเบกขาเวทนาไม่ที่อาสวะ
เมื่อว่าโดยอุบายเวทนามี ๗ คือ จักขุสัมผัสสชาเวทนา โสตสัมผัสสชาเวทนา ฆานสัมผัสสชาเวทนาชิวหาสัมผัสสชาเวทนา กายสัมผัสสชาเวทนา มโนสัมผัสสชาเวทนา และมโนวิญญาณสัมผัสสชาเวทนา
เมื่อว่าโดยพิสดาร เวทนามี ๑๐๘ กล่าวคือ เวทนา ๖ เกิดจากตัณหา เวทนา ๖ เกิดจากเนกขัมมะ เวทนา ๖ เกิดจากตัณหาที่มีทุกข์ เวทนา ๖ เกิดจากเนกขัมมะ ที่มีทุกข์ เวทนา ๖ เกิดจากตัณหาที่มีอุเบกขา และเวทนา ๖ เกิดจากเนกขัมมะที่มีอุเบกขา ๖x๖ เป็น ๓๖ และแบ่งออกเป็น ๓ กาล (อดีต อนาคต และปัจจุบัน) เวทนา ๓๖ เหล่านี้คูณด้วย ๓ จึงเป็น ๑๐๘ นี้เรียกว่า “เวทนาขันธ์”(๑๙)



สัญญาขันธ์
ถาม : สัญญาขันธ์ เป็นไฉน?
ตอบ : สัญญาขันธ์เมื่อว่าโดยลักษณะ สัญญามี ๑ เพราะใจหมายรู้อารมณ์ เมื่อว่าโดยธรรมฝ่ายดำและฝ่ายขาว สัญญามี ๒ กล่าวคือ สัญญาวิปัลลาส และสัญญาอวิปัลลาส
เมื่อว่าโดยอกุศล สัญญามี ๓ กล่าวคือ กามสัญญา พยาบาทสัญญา และวิหิงสาสัญญา
เมื่อว่าโดยกุศล สัญญามี ๓ กล่าวคือ เนกขัมมสัญญา อัพยาบาทสัญญา และอวิหิงสาสัญญา(๒๐)
เมื่อว่าโดยความไม่รู้ธรรมชาติอันสำคัญของอายตนะ สัญญามี ๔ กล่าวคือ สัญญาว่างามในของไม่งาม สัญญาว่าสุขในสิ่งที่ทุกข์ สัญญาว่าเที่ยงในสิ่งที่ไม่เที่ยง สัญญาว่าตนในสิ่งที่ไม่ใช่ตน(๒๑)
เมื่อว่าโดยความรู้ธรรมชาติอันสำคัญของอายตนะ สัญญามี ๔ กล่าวคือ อสุภสัญญา ทุกขสัญญา อนิจจสัญญา และอนัตตสัญญา
ว่าตามหลักพระวินัย สัญญามี ๕ กล่าวคือ สัญญาในสิ่งที่น่าเกลียดว่าสวยงาม สัญญาในสิ่งที่น่าเกลียดว่าน่าเกลียด สัญญาในสิ่งที่งามว่างาม สัญญาในสิ่งที่สวยงามว่าน่าเกลียด และสัญญาในวิจิกิจฉา
เมื่อว่าโดยอารมณ์ สัญญามี ๖ คือ รูปสัญญา สัททสัญญา คันธสัญญา รสสัญญา โผฏฐัพพสัญญา ธรรมสัญญา(๒๒)
เมื่อว่าโดยทวารสัญญามี ๗ คือ จักขุสัมผัสสชาสัญญา โสตสัมผัสสชาสัญญา ฆานสัมผัสสชาสัญญา ชิวหาสัมผัสสชาสัญญา กายสัมผัสสชาสัญญา มโนสัมผัสสชาสัญญา มโนวิญญาณสัมผัสสชาสัญญา ฉะนั้น บุคคลควรทราบสัญญามีหลายประการนี้ เรียกว่า “สัญญาขันธ์”(๒๓)


สังขารขันธ์
ถาม : สังขารขันธ์เป็นไฉน?
ตอบ : สังขารขันธ์กล่าวคือ ผัสสะ เจตนา วิตก วิจาร ปีติ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ชีวิตินทรีย์ การละนิวรณ์ อโลภะ อโทสะ หิริ โอตตัปปะ ปัสสัทธิ ฉันทะ อธิโมกข์ อุเบกขา มนสิการ โลภะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ อุทธัจจะ กุกกุจจะ วิจิกิจฉา โกสัชชะ อหิริกะ อโนตตัปปะ และเจตสิกธรรมอื่น ๆ เว้นเวทนาและสัญญาเสียแล้ว นอกจากนั้นเป็นสังขารขันธ์(๒๔)


อุปมา ๓๑ ข้อ

ในที่นี้ ผัสสะ หมายถึง จิตกระทบอารมณ์เหมือนแสงพระอาทิตย์ส่องแสงกระทบกำแพง(๒๕) ผัสสะนี้เป็นสมุฏฐานของสัญญา
เจตนา หมายถึงความไหวของจิต เหมือนกับการเคลื่อนไหวของเท้าหรือเหมือนกับนั่งร้านสำหรับสร้างบ้าน เจตนานี้เป็นปทัฏฐานของทวารและอารมณ์
วิตก คือการทำงานทางจิตเหมือนกับการท่องบทสวดมนต์โดยขึ้นใจมีสัญญาเป็นปทัฏฐาน
วิจาร คือการพิจารณาอารมณ์ทางจิต เหมือนกับความคิดที่คอยติดตามความหมาย มีวิตกเป็นปทัฏฐาน
ปีติ คือความดีใจ เหมือนกับบุคคลได้บางสิ่งบางอย่าง มีความดีใจเป็นปทัฏฐาน
ศรัทธา คือความบริสุทธิ์ของจิต เหมือนกับบุคคลทำน้ำให้สะอาดบริสุทธิ์โดยร่ายเวทมนตร์คาถา มีองค์ ๔ ของพระโสดาบันเป็นปทัฏฐาน(๒๖)
วิริยะ คือความเข้มแข็งของจิต เหมือนโคที่กำลังลากสัมภาระอันหนัก มีสังเวควัตถุ ๘ เป็นปทัฏฐาน(๒๗)
สติ คือการคุ้มครองรักษาจิต เหมือนกับน้ำมันรักษาบาตร มีสติปัฏฐาน ๔ เป็นปทัฏฐาน
สมาธิ คือความที่จิตเป็นหนึ่ง เหมือนกับประทีปหลังวังหลวง มีฌาน ๔ เป็นปทัฏฐาน
ปัญญา คือการเห็นด้วยจิต เหมือนกับบุคคลที่มีดวงตา(๒๘) มีอริยสัจ๔ เป็นปทัฏฐาน
ชีวิตินทรีย์ คือธรรมที่ปราศจากรูป นี้คือชีวิต เหมือนน้ำที่หล่อเลี้ยงใบบัว(๒๙) มีนามและรูปเป็นปทัฏฐาน
การละนิวรณ์ คือความเป็นอิสระจากความชั่วของจิต เหมือนกับบุคคลที่ปรารถนาให้ชีวิตมีความสุขก็หลีกเลี่ยงจากยาพิษ(๓๐) มีการเจริญฌานเป็นปทัฏฐาน
อโลภะ คือการขจัดอุปาทานออกไปจากจิต เหมือนกับบุคคลผู้กำจัดสิ่งที่ทรมานตัวเขามีเนกขัมมะเป็นปทัฏฐาน
อโทสะ คือสภาวะของจิตที่ไม่โกรธ เหมือนกับหนังแมว(๓๑) มีอัปปมัญญา ๔ เป็นปทัฏฐาน
หิริ คือความรู้สึกละอายต่อตัวเองเมื่อทำผิด เหมือนบุคคลรังเกียจอุจจาระและปัสสาวะ(๓๒) มีการเคารพตัวเองเป็นปทัฏฐาน
โอตตัปปะ คือความกลัวต่อการทำผิดเหมือนกับกลัวต่อผู้ที่มีอำนาจเหนือตน มีการเคารพผู้อื่นเป็นปทัฏฐาน(๓๓)
ปัสสัทธิ คือการระงับความตื่นเต้นของจิต เหมือนกับการอาบน้ำเย็นในหน้าร้อน มีปีติเป็นปทัฏฐาน
ฉันทะ คือความปรารถนาจะทำความดี เหมือนกับผู้มีศรัทธาในการให้ทาน มีอิทธิบาท ๔ เป็นปทัฏฐาน
อธิโมกข์ คือความตกใจ เหมือนกับกระแสน้ำที่ไหลพุ่มลงสู่ที่ต่ำ(๓๔) มีวิตกวิจารเป็นปทัฏฐาน
อุเบกขา คือสภาวะของจิตที่ไม่โอนเอนไปมา เหมือนกับบุคคลประคองตาชั่ง(๓๕) มีวิริยะและสภาวธรรมอื่นๆ เป็นปทัฏฐาน
มนสิการ คือการกำหนดจิต เหมือนกับนายท้ายเรือ มีทั้งกุศลและอกุศลเป็นปทัฏฐาน
โลภะ คือความแนบสนิทของจิต เหมือนกับห่านมีรูปที่น่ารักและน่าปรารถนาเป็นปทัฏฐาน
โทสะ คือความวุ่นวายของจิต เหมือนงูพิษ(๓๖) ที่ทำให้โกรธ มีโกธวัตถุ ๑๐ เป็นปทัฏฐาน
โมหะ คือความมืดมนของจิต เหมือนกับบุคคลไม่มีตา(๓๗) มีวิปัลลาส ๔ เป็นปทัฏฐาน
มานะ คือความถือตัวของจิต เหมือนกับบุคคล ๒ คนกำลังต่อสู้กัน มีธรรม ๓ ประเภทเป็นปทัฏฐาน
ทิฏฐิ คือความหมกหมุ่นของจิตเปรียบประดุจคนตาบอดคลำช้าง(๓๘) มีการไม่สำรวมระวังต่อเสียงของบุคคลอื่นเป็นปทัฏฐาน
อุทธัจจะ คือสภาวะของจิตที่ไม่สงบ เหมือนกับน้ำที่กำลังเดือดพล่านอยู่ มีความกังวลเป็นปทัฏฐาน
กุกกุจจะ คือความเดือดร้อนรำคาญของจิต เปรียบเหมือนการใฝ่ต่ำ มีการพลัดพรากจากความดีอันเนื่องมาจากการทำความชั่วเป็นปทัฏฐาน
วิจิกิจฉา คือความกระวนกระวายของจิตในอารมณ์ต่างๆ เหมือนกับนักท่องเที่ยว เที่ยวไปถึงสถานที่ไกลแล้วหลงทาง ๒ แพร่ง(๓๙) มีมนสิการที่ตั้งไว้ผิดเป็นปทัฏฐาน
โกสัชชะ คือความไม่เอาใจใส่ของจิต เหมือนกับงูจำศีล มีโกสัชชวัตถุ ๘ เป็นปทัฏฐาน
อหิริกะ คือสภาวะของจิตซึ่งไม่ละอายต่อการทำความชั่ว เหมือนกับคนจัณฑาล มีความไม่เคารพเป็นปทัฏฐาน
อโนตตัปปะ คือความไม่กลัวของจิตต่อการกระทำชั่ว เหมือนกับพระราชาที่ดุร้าย มีความไม่มีคารวตา ๖ ประการ เป็นปทัฏฐาน

สภาวธรรมเหล่านี้เรียกว่า “สังขารขันธ์”


วิญญาณขันธ์
ถาม : วิญญาณขันธ์เป็นไฉน?
ตอบ : วิญญาณขันธ์ คือจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนธาตุ และมโนวิญญาณธาตุ
ในที่นี้ จักขุวิญญาณเป็นความรู้รูปโดยอาศัยตา นี้เรียกว่า “จักขุวิญญาณ”
โสตวิญญาณเป็นความรู้เสียงโดยอาศัยหู นี้เรียกว่า “โสตวิญญาณ”
ฆานวิญญาณเป็นความรู้กลิ่นโดยอาศัยจมูก นี้เรียกว่า “ฆานวิญญาณ”
ชิวหาวิญญาณเป็นความรู้สนโดยอาศัยลิ้น นี้เรียกว่า “ชิวหาวิญญาณ”
กายวิญญาณเป็นความรู้โผฏฐัพพะโดยอาศัยกาย นี้เรียกว่า “กายวิญญาณ”
มโนธาตุอาศัยปัญจทวาราวัชชนะ และรับอารมณ์ที่ปรารถนาและไม่น่าปรารถนา การรู้รูปเป็นต้นหลังจากปัญจวิญญาณ เรียกว่า มโนธาตุ
วิญญาณนอกจากวิญญาณทั้ง ๖ ประเภทเรียกว่ามโนวิญญาณธาตุ
วิญญาณ ๗ เหล่านี้บัณฑิตควรทราบโดย ๓ ทางเหล่านี้คือ โดยอายตนะ โดยอารมณ์ และโดยสภาวธรรม


โดยอายตนะและอารมณ์
ถาม : ควรทราบวิญญาณโดยอายตนะและอารมณ์อย่างไร?
ตอบ : ปัญจวิญญาณเป็นสภาวธรรมที่แตกต่างกันโดยอายตนะและโดยอารมณ์มโนธาตุและมโน วิญญาณธาตุเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยอายตนะ ปัญจวิญญาณเป็นอารมณ์ของมโนธาตุ วิญญาณ ๖ เป็นอารมณ์ของมโนวิญญาณธาตุ ปัญจวิญญาณโดยสภาวะแล้วเป็นภายใน โดยอายตนะ แล้วเป็นภายใน โดยอารมณ์แล้วเป็นภายนอก มโนธาตุโดยสภาวะแล้วเป็นภายใน โดยอายตนะแล้วเป็นภายนอก โดยอารมณ์แล้วเป็นภายนอก มโนวิญญาณของาตุโดยสภาวะแล้วเป็นภายในโดยอายตนะแล้วเป็นภายนอกโดยอารมณ์แล้ว เป็นทั้งภายในและภายนอกในเรื่องวิญญาณ ๖ มีอายตนะและอารมณ์มีมาจากอดีต ในเรื่องมโนวิญญาณธาตุ การสร้างอายตนะย่อมปรากฏในขณะคิด ไม่มีอารมณ์ของอายตนะในอรูปภูมิ เพราะว่าอายตนะต้องถูกสร้างขึ้นก่อน วิญญาณควรจะทราบโดยอายตนะและอารมณ์ดังนี้



โดยอารมณ์
ถาม : ควรทราบวิญญาณโดยอารมณ์อย่างไร?
ตอบ : วิญญาณ ๕ แต่ละอย่างมีข้อจำกัด วิญญาณ ๕ เหล่านี้ไม่ถูกสร้างขึ้นโดยวิญญาณด้วยกัน วิญญาณ ๕ เหล่านี้เกิดไม่ก่อนและไม่หลังและไม่เกิดแยกจากกัน สภาวะทั้งหมดไม่สามารถจะได้โดยปัญจวิญญาณ การเกิดขึ้นในครั้งแรกเพียงอย่างเดียวเท่านั้นอาจจะถูกรู้ได้ สภาวะทั้งหมดไม่สามารถจะรู้ได้โดยมโนธาตุ เพียงแต่สภาวะที่เป็นไปในจิตเท่านั้น ที่จะถูกรู้ได้ โดยวิญญาณ ๖ ไม่มีการตั้งอิริยาบถอยู่ได้
โดยชวนะ จึงมีการตั้งอยู่ โดยวิญญาณ ๖ จึงไม่มีการตั้งมั่นของกายกรรมและวจีกรรม(โดยชวนะ กายกรรมและวจีกรรมจึงตั้งมั่น)
สภาวธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล ไม่ได้ตั้งอยู่โดยวิญญาณ ๖ แต่ว่า สภาวธรรมเหล่านี้จะตั้งอยู่ได้ด้วยชวนะเท่านั้น
โดยวิญญาณ ๖ บุคคลไม่เข้าหรือออกจากสมาธิ โดยชวนะเท่านั้นที่บุคคลเข้าสมาธิและสงบสติอารมณ์ได้โดยมีชัยชนะต่อธรรมที่ เป็นข้าศึก ไม่มีสิ่งใดเป็นเหตุให้ดับหรือให้เกิดเพราะวิญญาณ ๖
เพราะการชนะสภาวธรรมที่เป็นข้าศึกการดับและการเกิดจึงมีได้ มโนวิญญาณธาตุเกิดแต่วิบาก
บุคคลไม่หลับ ตื่นหรือฝัน เพราะวิญญาณ ๖ บุคคลหลับเพราะสิ่งตรงกันข้าม เพราะแสงสว่างอันละเอียดอ่อน บุคคลจึงตื่น เพราะชวนะบุคคลจึงฝัน บุคคลควรทราบวิญญาณโดยอารมณ์ดังนี้


โดยสภาวธรรม
ถาม : ควรทราบวิญญาณโดยสภาวธรรมอย่างไร?
ตอบ : ปัญจวิญญาณมีวิตกวิจาร มโนธาตุมีวิตกวิจาร มโนวิญญาณธาตุมีวิตกวิจารหรือไม่มีวิตกมีแต่วิจารหรือว่าไม่มีทั้งวิตกและ วิจาร ปัญจวิญญาณทำงานร่วมกับอุเบกขา กายวิญญาณทำงานร่วมกับสุขหรือทุกข์ มโนวิญญาณธาตุทำงานร่วมกับปีติหรือทุกข์หรืออุเบกขา ปัญญจวิญญาณเป็นวิบาก มโนธาตุเป็นทั้งวิบากและอัพยากฤต มโนวิญญาณธาตุเป็นกุศล หรืออกุศลหรือวิบากหรืออัพยากฤต วิญญาณทั้งหกไม่เกิดโดยปราศจากปัจจัยจึงเป็นโลกิยธรรม เป็นสาสวะ เป็นคันถะ เป็นสังโยชน์ เป็นโอฆะ เป็นโยคะ เป็นนิวรณ์ เป็นปรามาส เป็นอุปาทาน เป็นกิเลส ไม่สามารถกำจัดได้โดยการพิจารณาดูหรือว่าโดยการเข้าฌานสมาบัติเป็นกลุ่มก็ ไม่ใช่หรือว่าไม่เป็นกลุ่มก็ไม่ใช่ เป็นเนวเสกขานาเสกขา เป็นสังโยชน์ของกามภูมิ ไม่ตั้งมั่นและไม่เป็นยานพาหนะ มโนวิญญาณธาตุนั้นเป็นสภาวธรรมที่ทำลายกิเลสให้เสื่อมสูญ กระนั้นบุคคลควรทราบความผิดแผกแตกต่างของวิญญาณโดยสภาวธรรม ดังนี้ นี้เรียกว่า “วิยญาณขันธ์” บุคคลควรทราบ “ขันธ์ ๕” อย่างนี้
อนึ่ง บุคคลควรทราบคุณลักษณะเฉพาะของขันธ์ ๕ โดย ๔ ทาง คือ โดยความหมายของคำ โดยลักษณะ โดยแยกแยะ และโดยสงเคราะห์

โดยความหมายของคำ
ถาม : ขันธ์ ๕ โดยความหมายของคำอย่างไร?
ตอบ : รูปหมายถึงสิ่งที่สามารถเห็นได้ เวทนาหมายถึงความรู้สึก สัญญาหมายถึง ความจำได้หมายรู้ สังขารหมายถึงการปรุงแต่ง วิญญาณหมายถึงความรับรู้ ขันธ์หมายถึงประเภทและกลุ่ม บุคคลควรทราบโดยความหมายของคำดังนี้

โดยลักษณะ
ถาม : ขันธ์ ๕ โดยลักษณะอย่างไร?
ตอบ : รูปเป็นลักษณะของตนเหมือนกับหนาม มีมหาภูตรูป ๔ เป็นปทัฏฐาน
ลักษณะของเวทนาคือความรู้สึก เหมือนกับการไม่ชอบคนขี้เรื้อน มีผัสสะเป็นปทัฏฐาน การอุปถัมภ์ค้ำจุนเป็นลักษณะของสัญญาเหมือนจินตภาพ มีผัสสะเป็นปทัฏฐาน
ลักษณะของสังขารคือการรวมกลุ่ม เหมือนกับการหมุนของล้อรถ มีผัสสะเป็นปทัฏฐาน
ลักษณะของวิญญาณคือการับรู้ เหมือนกับการรู้รส มีนามและรูปเป็นปทัฏฐาน
บุคคลควรทราบขันธ์ ๕ โดยลักษณะดังนี้

โดยแยกแยะ
ถาม : ขันธ์ ๕ โดยแยกแยะอย่างไร?
ตอบ : ขันธ์แยกแยะออกเป็น ๓ อย่างคือ ขันธ์ ๕ อุปาทานขันธ์ ๕ และธรรมขันธ์ ๕ ในที่นี้ ขันธ์ ๕ คือสังขตธรรมทั้งสิ้น อุปาทานขันธ์ ๕ คือ สาสวธรรมทั้งสิ้น ธรรมขันธ์ ๕ คือ ศีลขัน์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ วิมุตติขันธ์(๔๐) และวิมุตติญาณทัสสนขันธ์ ในที่นี้ ขันธ์หมายถึงขันธ์ ๕


โดยสงเคราะห์
ถาม : ขันธ์ ๕ โดยสงเคราะห์อย่างไร?
ตอบ : มีสงเคราะห์ ๓ คือ อายตนะสงเคราะห์ ธาตุสงเคราะห์ สัจจสงเคราะห์ ในที่นี้ รูปขันธ์ถูกสงเคราะห์เข้าในอายตนะ ๑๑ ขันธ์ ๓ ถูกสงเคราะห์เข้าใจธรรมายตนะ วิญญาณขันธ์ ถูกสงเคราะห์เข้าในมนายตนะ
รูปขันธ์สงเคราะห์เข้าในธาตุ ๑๑
ขันธ์ ๓ สงเคราะห์เข้าในธรรมธาตุ
วิญญาณขันธ์ สงเคราะห์เข้าในธาตุ ๗
ศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ วิมุตติญาณทัสสนขันธ์สงเคราะห์เข้าในธรรมายตนะ มนายตนะ ธรรมธาตุ และมโนวิญญาณธาตุ
ขันธ์ ๕ สงเคราะห์เข้าในสัจจะ หรือไม่สงเคราะห์เข้าใจสัจจะ
ปัจจะปาทานขันธ์ สงเคราะห์เข้าในทุกขสัจและในสมุทัยสัจ
ศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ และปัญญาขันธ์สงเคราะห์เข้าในมรรคสัจ
วิมุตติขันธ์ ไม่สงเคราะห์เข้าในสัจจะ
วิมุตติญาณทัสสนขันธ์สงเคราะห์เข้าในทุกขสัจ
สภาวธรรมบางประการสงเคราะห์เข้าในขันธ์ แต่ไม่สงเคราะห์เข้าในสัจจะ
สภาวธรรมบางประการสงเคราะห์เข้าในสัจจะ แต่ไม่สงเคราะห์เข้าในขันธ์
สภาวธรรมบางประการ สงเคราะห์เข้าในทั้งขันธ์ และในสัจจะ
สภาวธรรมบางประการ ไม่สงเคราะห์ เข้าทั้งในสัจจะทั้งในขันธ์
ในที่นี้รูปสัมปยุตด้วยอินทรีย์ไม่สัมปยุตด้วยมรรค
ผลแห่งความสันโดษสงเคราะห์เข้าในขันธ์ แต่ไม่สงเคราะห์เข้าในสัจจะ
นิพพานสงเคราะห์เข้าใจสัจจะ แต่ไม่สงเคราะห์เข้าในขันธ์
สัจจะ ๓ สงเคราะห์เข้าในขันธ์และในสัจจะ
การสำรวม ไม่สงเคราะห์เข้าในขันธ์และในสัจจะ

ฉะนั้น บุคคลควรเห็นอุบายในอันที่จะเข้าใจเรื่องขันธ์ นี้เรียกว่า “ขันธอุบาย”
ขันธอุบายจบ

 

 

 
Heute waren schon 34 Besucher (36 Hits) hier!
Diese Webseite wurde kostenlos mit Homepage-Baukasten.de erstellt. Willst du auch eine eigene Webseite?
Gratis anmelden