แขวนพระ-คล้องพระ-ห้อยพระ-เพื่ออะไร?
โดย จ.ส.อ. เอนก เจกะโพธิ์
( หน้า 1/1)
|
แขวนพระ-คล้องพระ-ห้อยพระ-เพื่ออะไร?
คนเราเกิดมาทุกคนนั้นไม่ว่ายากดีมีจนชนิดไหนอย่างไร ล้วนมีเวรมีกรรม
แต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่มีกรรมอย่างหนึ่งที่เหมือนกันคือ การถึงแก่กรรม (การตาย)
มีประจำอยู่ในตัวทุกคน ทุกเวลานาที ทุกวันทุกเดือนทุกปี จะต้องถึงตัวเราคือ แก่ เจ็บ
และตาย เราเรียกว่ากรรมเหล่านี้มีเท่ากันหมด แต่การประกอบกรรมของบุคคล
เรานั้นไม่เหมือนกัน การประกอบกรรมมีสองประการกล่าวคือ
1. การประกอบกรรมดี และ
2. การประกอบกรรมชั่ว (กรรม=การกระทำ)
การประกอบสัมมาอาชีพที่สุจริต และการประกอบสัมมาอาชีพที่สุจริต
ก็ คือกรรมอย่างหนึ่งของบุคคลนั้นๆ จะเลือกประกอบ คนที่ชอบประพฤติปฏิบัติดี ประกอบสัมมาอาชีวะเลี้ยงชีพด้วยความซื่อสัตย์สุจริต กรรมนั้นจะสนองตอบด้วย
ความดี ส่วนคนชอบพระพฤติปฏิบัติแปลกแหวกแนวประกอบสัมมาอาชีพด้วยการ
ทุจริต กรรมนั้นก็จะสนองตอบตามความประพฤตินั้นทั้งความชั่วและความดี กรรมเสมือนประกาศนียบัตร เกียรตินิยมอันดับหนึ่งของชีวิตคนเราเท่าเทียมกันหมด
|
ทุกคนที่เกิดมาต่างก็อยากจะกระทำความดี ความงามด้วยกันทุกคน แต่กรรมที่ประจำตัวของแต่ละคนนั้นก็มีไม่เหมือนกัน
อีกนั่นแหละ เราเรียกควาไม่เหมือนกันนั้นว่า "ดวง" ดวงของคนเราต่างคนต่างไม่เหมือนกันอีก คือ บางคนร่ำรวยล้นฟ้า บางคน
ยากจนถึงกับขอทาน ถ้าเราเอาทั้งดวงและกรรม มารวมกันเข้าก็จะได้คำจำกัดความเพียงสั้นๆ ว่า "ดวงกรรม" คือดวงของคน
ที่มีกรรมแต่ละอย่างแต่ละชนิดประจำชีวิตของตนไม่เหมือนกัน มีเหมือนกันอยู่อย่างเดียวคือ "ถึงแก่กรรม" คือการตายของ
แต่ละคนซึ่งไม่เหมือนกันอีก บางคนคนถูกรถชนตาย, บางคนถูกยิงตาย, บางคนตกเครื่องบินตาย, บางคนออกไปทอดแห
หาปลาจมน้ำตาย ,บางคนหัวใจวายตาย, บางคนเป็นโรคเอดส์ตาย, บางคนตายด้วยพิษต่างๆ ล้วนแล้วแต่มีการตายไม่ค่อย
ตรงกันหรือเหมือนกันก็เพราะเวรกรรมหรือดวงกรรมของคนเราที่มีอยู่ในตัวไม่เหมือนกัน ทุกคนที่ประกอบกรรมดีและกรรมชั่ว
นั้น มีความตายเป็นที่พึ่งครั้งสุดท้ายของชีวิตทุกคนไป ไม่ว่าจะเป็นไพร่ผู้ดี หรือยากจนเข็ญใจมีความตายของแต่ละคนเท่าเทียม
กันหมด เว้นไว้แต่ว่าจะตายช้าหรือตายเร็วเท่านั้น สรุปแล้วทุกคนต้องตาย
การตายมีหลายชนิด อาทิเช่น ตายวาย, ตายวอด, ตายจอด,ตายจม,ตายงมกระดูก,ตายผูก,ตายพันธ์,
ตายงก,ตายตก,และตายตาม
คนเราเกิดมาพอรู้ความพ่อแม่ พี่น้อง ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา หรือญาติสนิทมิตรสหายก็จะนำเอาพุทธโอวาทปาฏิโมกข์
ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า (เจ้าของพระพุทธศาสนา) นำมาบอกกล่าวสั่งสอนให้ผู้คนทั้งหลายทั้ปวงประพฤติดีประพฤติชอบ
ประพฤติควร ทั้งกาย วาจา ใจ ให้อยู่ในศีลในธรรม อย่าสร้างเวรสร้างกรรมหรือกระทำในสิ่งตรงกันข้าม หลักธรรมอย่างแรกนั้น
องค์ สัมมาสัมพุทธเจ้าอบรมสั่งสอนมนุษย์ที่เกิดมาในโลกทั้งปวงพึงปฏิบัติ ซึ่งมีความเกี่ยวโยงมาจากคำว่า พระพุทธศาสนา คือพระพุทธเจ้านั่นเอง
ชนชาติทั้งหลายที่เกิดมาในโลกนี้มีศาสนาประจำชาติของตนเอง เช่น ศาสนาพุทธ,ศาสนาพราหมณ์,ศาสนาคริสต์,
ศาสนาฮินดู,ฯลฯ คนเหล่านี้มีความเคารพสัการะบูชาและเชื่อมั่นในคำสอนของแต่ละศาสนานั้นๆ คล้ายคลึงกัน เพราะแต่ละ
ศาสนา สั่งสอนให้คนเรากระทำความดีทั้งนั้น และเกิดนับถือสิ่งแทนศาสนา เช่นรูปเคารพต่างๆ อาทิ รูปไม้กางเขน,
รูปพระบูชา,พระเทวรูป พระพุทธรูปหรือสิ่งซึ่งแทนการเคารพสักการะในแต่ละศาสนานั้น
รูปเคารพสักการะแทนศาสนาของชาวพุทธเรานั้น ได้แก่ "พระพุทธรูป" มีทั้งขนาดใหญ่ที่สุดถึงขนาดเล็กที่สุด การสร้าง
พระบูชาหรือพระเครื่องทั้งในอดีตและปัจจุบัน ตลอดไปจนถึงอนาคตนั้นเราสร้างขึ้นเพื่อทดแทนองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ตาม
เรื่องราวพระพุทธประวัติ อิทธิพลทางศาสนา และได้มีการสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยเมื่อครั้งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ยังมีพระชนม์ชีพอยู่
ปฐมเหตุหรือสาเหตุแห่งการสร้างมีขึ้นนั้น"มีตำนานกล่าวไว้ว่า เมื่อครั้งสมเด็จพระพุทธองค์ได้เสด็จขึ้นไปโปรด
พุทธมารดาเบื้องบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าประเสนทิราชา แห่งกรุงโกศลรัฐมิได้ทรงเห็นพระพุทธเจ้า
มาเป็นเวลาช้านาน และทรงมีพระทัยระลึกถึง จึงมีพระราชบัญญชารับสั่งให้ช่วงเอาไม้แก่นจันทร์แดงมาแกะสลักทำเป็น
พุทธรูปแล้ว ทรงให้ประดิษฐานไว้เหนืออาสนะที่สมเด็จพระพุทธองค์เคยประทับ
ครั้นเมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จพุทธดำเนินกลับลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มาถึงที่ประทับนั้น
ด้วยอำนาจพระพุทธานุภาพบันดาลให้พระพุทธรูปที่จำลองขึ้นด้วยไม้แก่นจันทร์แดง ขยับเขยื้อนเลื่อนหนีออกไป
จากพระพุทธอาสนะประจักษ์แก่ตาคนทั้งหลาย สมเด็จพระชินศรีจึงทรงรับสั่งให้เก็บพระพุทธรูปนั้นไว้เพื่อเอาไว้เป็น
แบบอย่างแก่พุทธศาสนิกชนที่ต้องการ จะสร้างพระพุทธรูปขึ้นไว้ สำหรับสักการะบูชาภายหลังเมื่อสมเด็จพระพุทธองค์
ได้เสด็จพระปรินิพพานแล้วนั่นเอง นี่คือปฐมเหตุหรือต้นเหตุแห่งที่มาที่ทำให้เกิดมีการสร้างพระพุทธรูปขึ้นดังกล่าว
ภายหลังเมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว การสร้างพระพุทธรูปเพื่อไว้สักการะ
บูชาแทนพระพุทธองค์ยังไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายนัก ส่วนมากนิยมสร้างวัตถุต่างๆ แทน เช่น สร้างพระสถูปเจดีย์
พระเสมาธรรมจักร หรือรอยพระพุทธบาท ไว้เป็นเครื่องระลึกถึงพระพุทธองค์แทน จวบจนกระทั่งพระพุทธศักราชล่วงไป
แล้วเกือบ 400 ปี การนิยมสร้างพระพุทธรูปขึ้นไว้ ทำการสักการะบูชาแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้แพร่หลาย
ออกไปอย่างกว้างขวาง เจริญรอยตามกันมาตลอดจนตราบเท่าทุกวันนี้
เนื่องจากศาสนาพราหมณ์ได้ถือดำเนิดมาก่อนพระพุทธศาสนา และคติตามไสยาศาสตร์ของพราหมณ์ซึ่งถือเอาเทพเจ้า
เป็นสรณะคือที่พึ่ง บรรดาเทพเจ้าผู้เป็นผู้ใหญ่ทั้งหลายสามารถบันดาลความสุขสวัสดีหรือความพิบัติได้ จึงได้เกิดมีพิธี
การบวงสรวงกระทำยัญขึ้น ผู้ใดทำการบวงสรวงบูชายัญแก่เทพเจ้า เทพเจ้าก็จะบันดาลให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขสวัสดิ์
พิพัฒนมงคล "ผู้ใดละเว้น" เทพเจ้าก็จะพิโรธ บันดาลให้ได้รับความทุกข์ จะมีภัยพิบัตินานัปการ ดังนั้นเมื่อพระพุทธศาสนา
ได้กำเนิดขึ้นและเจริญรุ่งเรืองมาโดยลำดับ บรรดาผู้นับถือศาสนาพราหมณ์ในสมัยนั้น ได้หันเห มาให้ความเคารพนับถือ
ในพระพุทธศาสนา จึงได้นำเอาคติประเพณีทางศาสนาพราหมณ์มาดัดแปลงแทรกคติทางพระพุทธศาสนาลงไป เป็นการ
ผสมผสานความศรัทธาเชื่อถือของตน โดยนับเหตุว่าคติศาสนาของพราหมณ์นั้นยังมีอานุภาพเป็นที่เชื่อถือกันอยู่แล้ว
ถ้าหากรวมคติทางพุทธศาสนาซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่าเป็นของจริงแน่แท้ อันอาจพิสูจน์ได้ทุกกาลสมัย
เข้าไปในคติลัทธินั้นย่อมจะเรืองอานุภาพกว่าเป็นแน่แท้
โดยคติทางศาสนาพราหมณ์ถือว่า บรรดามนุษย์ที่ได้อุบัติขึ้นมาในโลกนี้ ย่อมมีเทพเจ้าเข้าคุ้มครองรักษาตั้งแต่เกิด
มาทีเดียว เมื่อคตินี้ได้เข้ามาปะปนในพระพุทธศาสนา ซึ่งไม่มีพิธีการบวงสรวบูชายัญ ดังนั้นที่พึ่งของพุทธศาสนิกชนของเรา
นั้น ก็ไม่มีอะไรจะดีไปกว่า พระรัตนตรัย อันมีพระพุทธเจ้า (รูปแทนองค์พระพุทธเจ้า), พระธรรม (คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า),
พระสงฆ์ (คือสาวกของพระพุทธเจ้า) เป็นสรณะที่พึ่ง ของพุทธศาสนิกชนเรามาทั้งในอดีตและปัจจุบันนี้
จึงเกิดการสร้างพระพุทธรูปประจำวันปางต่างๆ และพระเครื่องตามนัยคตินี้ ท่านโบราณจารย์จึงได้นำเอาพระพุทธคุณ
พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ เข้ามาเป็นเครื่องนำบำบัดทุกข์ภัยและส่งเสริมความสุขสวัสดิพิพัฒมงคล อันเกี่ยวกับผลที่เทพยดา
แต่ละองค์เข้ามาเสวยอายุหรือเข้ามาแทรก โดยกำหนดตกแต่งพระปริตรแต่ละบท มาเป็นเครื่องสวดมนต์คุ้มครองป้องกันภัย
ให้เข้ากับเรื่องของเทพยดาแต่ละองค์ไป ทั้งยังกำหนดเอาพระพุทธรูป เพราะเครื่องปางต่างๆ ให้เป็นพระพุทธรูปประจำวัน
ให้ตรงกับเทพยดาที่เข้ามาเสวยและเข้ามาแทรกเป็นรายองค์ไป เพื่อที่พุทธศาสนิกชนจะได้สร้างพระพุทธรูปประจำวันเกิด
ของตนเองไว้สักการะบูชา เพื่อขจัดปัดเป่าทุกข์ภัยพิบัติ ให้เกิดความสุขสวัสดิ์พิพัฒมงคลแก่ตน ซึ่งถ้าได้ทำการสักการะบูชา
เป็นกิจวัตรแล้วจะเกิดโชคลาภผลศุภมงคลสวัสดิมีชัยทุกค่ำคืน
พระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะสร้างด้วยวัสดุอะไรก็ตามที เราไม่สามารถจะนำพกติดตัวไปไหนมาไหนได้ทุกกาลเวลา
เราเรียกว่า "พระพุทธรูปบูชา" ส่วนพระที่มีขนาดเล็ก เราสามารถนำติดตัวไปไหนมาไหนได้ทุกกาลเวลา เราเรียกพระชนิดนี้ว่า
"พระเครื่อง" ไม่จำกัดว่าจะสร้างด้วยวัสดุอะไรเราจำลองแบบมาจากพระพุทธประวัติ หรือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เป็นการแทนรูปลักษณะของพระพุทธองค์ มีปางต่างๆ มากมายหลายขนาด มีพระอริยบถหลายรูปลักษณะ แล้วแต่ผู้สร้าง
เป็นผู้ออกแบบสร้าง แต่ต้องมีหลักเกณฑ์อยู่ว่า ต้องเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธประวัติทั้งหมดทั้งสิ้น
ถ้านอกเหนือไปจากนี้เห็นทีจะเป็นเรื่องแปลก เราท่านทั้งหลายคงจะได้ยินได้ฟังหรืออ่านหนังสือพิมพ์หลายฉบับลงข่าว
ว่า มีพระปางพิสดาร "เหยียบโลก" ขึ้นในประเทศไทย ผู้คนต่างก็ฮือฮาแสดงการคิดเห็นกันมาหลายอย่าง ผมไม่เห็นจะเป็น
เรื่องพิลึกกึกกืออะไรหนักหนา คนไทยเราชอบตื่นข่าวเดี๋ยวเดียวก็ลืมเป็นปลิดทิ้งและไม่เฉพาะพระเหยียบโลก ในปัจจุบัน
อาจจะเกิดศาสนาเจ้าแม่กวนอิมขึ้นในประเทศไทยก็ได้นา (เป็นความคิดของผมเอง) เพราะตามวัดตามวาต่างๆ มีเจ้าแม่ที่ว่านี้
หลายแห่งก็เป็นเรื่องของการเลื่อมใส ไม่สามารถจะบังคับใครได้ ความศรัทธาของคนแล้วแต่ละคนไปว่าจะศรัทธามาก
หรือไม่ศรัทธาเลยก็ได้ ไม่มีใครหวงไม่มีใครห้าม สำหรับเรื่องศาสนานั้นทุกคนมีสิทธิในตัวเองอยู่แล้วว่าใครจะนับถือศาสนา
อะไรก็ได้ ไม่มีการบังคับหรือขู่เข็ญแต่ประการใดทั้งปวง
แขวนพระ, คล้องพระ, ห้อยพระ, เพื่ออะไร เป็นข้อใหญ่ใจความของเรื่องนี้ถ้าถามแต่ละคนที่แขวนพระ, คล้องพระ,
ห้อยพระ ก็จะได้รับคำตอบที่แตกต่างกันไปคนละอย่าง การนำพระที่เรานับถือศรัทธาและเลื่อมใส มาภาวนาหรืออาราธนา
โดยตั้งจิตอธิษฐานถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเราควรจะตั้งนะโม 3 จบ และกล่าวคำอาราธนาพระว่า พุทธฺ อาราธนานํ
ธมฺมํอาราธนา สงฺฆํ อาราธนานํ กล่าวคำรำลึกถึงพระคุณบิดามารดา ครูอาจารย์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายอันได้แก่ พระแก้ว
มรกด พระหลวงพ่อโตวัดไชโย พระพุทธชินราช หลวงพ่อพุทธโสธร เจ้าพ่อพระกาฬ เจ้าพ่อหลักเมือง พระเสื้อเมือง
พระทรงเมือง ที่เรืองฤทธิ์ ลูกขออำนาจบุญบารมีอันศักดิ์สิทธิ์และอิทธิฤทธิ์ทั้งหลายทั้งปวงจงดลบันดาลให้ข้าพเจ้า ....
ให้ปลอดภัยต่อภยันตรายทั้งหลายด้วยเถิด สาธุ
คนแขวนพระ,คล้องพระ, ห้อยพระแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนชอบแขวนพระเนื้อผงปางคนชอบแขวนพระเนื้อดิน
บางคนชอบแขวนพระเนื้อชิน แต่ละอย่างแต่ละคน คล้องพระแต่ละอย่างไม่ค่อยเหมือนกัน บางคนชอบแขวนเหรียญ
รูปเหมือนหลวงพ่อต่างๆ ....บางคนชอบประเภทเครื่องรางของขลัง(ที่รู้อาจารย์ปลุกเศก) พระเครื่องแต่ละอย่างแต่ละชนิด
มีอิทธิปาติหาริย์และประสบการณ์จากผู้ใช้ไม่เหมือนกันอีก บางชนิดสามารถให้ความคุ้มครองในเรื่องกันปืนได้ บางชนิด
มีเมตตามหานิยมบางชนิดแขวนแล้วมีโชคมีลาภ บางชนิดคล้องคอแล้วอยู่ยงคงกระพันชาตรี ทั้งหมดนี้เราเรียกว่าแขวนพระ,
คล้องพระ, ห้อยพระ, คำทั้ง 3 คำมีความหมายเดียวกัน แต่ก่อนพระเครื่องขอกันได้ให้กันฟรีๆ แต่ปัจจุบันไม่ได้แล้วต้องเป็น
เงินเป็นทองทั้งนั้นโดยให้เช่าบูชา พูดภาษาตลาดก็คือซื้อขายนั่นเอง
ถ้าถามคนทั้งหลายว่าคล้องพระ, แขวนพระ,หรือห้อยพระ, เพื่ออะไร? คนที่ถูกถามจะต้องตอบว่า คล้องเพื่อเป็น
เครื่องยึดเหนี่ยวทางใจ ถ้าถามคนต่อไปว่าแขวนพระเพื่ออะไร? คนที่ถูกถามจะตอบว่าเพื่อความปลอดภัยต่อภยันตราย
ทั้งหลายทั้งปวง ถ้าถามคนต่อไปอีกว่า ห้อยพระเพื่ออะไร เพื่อให้เกิดความมีเสน่ห์ เมตตามหานิยม ถ้าถามคนทั้งหมดที่
ชอบ พระต่างก็จะได้รับคำตอบที่ไม่เหมือนกับแค่คล้ายคลึงกัน ถ้าถามผมว่าแขวนพระเพื่ออะไร คำตอบของผมก็คือ แขวนพระเพื่อความเคารพสักการะบูชาในองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า อันเป็นมงคลชีวิต